เมื่อวันที่ 8 พ.ย. ที่ชั้น 6 สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร(กทม.) 2 ดินแดง นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวภายหลังลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์ฝนและน้ำท่วมขัง ที่ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม กทม. ว่า เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา(6พ.ย.) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. ได้หารือสถานการณ์ฝนในพื้นที่กรุงเทพฯ กับ ดร.รอยล จิตรดอน ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของผู้ว่าฯกทม. โดยจากการหารือคาดการณ์ว่าจะมีฝนเข้ากรุงเทพฯค่อนข้างมากในระหว่างวันที่ 7-10 พ.ย.นี้ จากนั้นเวลา 14.00 น. ในวันเดียวกันพล.ต.อ.อัศวิน ได้หารือกับสำนักการระบายน้ำ กทม. พร้อมทั้งมีบันทึกสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักการระบายน้ำ สำนักการโยธา สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักเทศกิจ สำนักการคลัง รวมถึงสำนักงานเขต 50 เขต ให้เตรียมความพร้อม เนื่องจากอาจเกิดภาวะฝนตกค่อนข้างมากในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยกำชับให้เจ้าหน้าที่ประจำจุดและเฝ้าระวังสถานการณ์ฝนตั้งแต่ เวลา 17.00 น. วันที่ 7 พ.ย. ถึงเวลา 17.00 น. ของวันที่ 10 พ.ย.
นายจักกพันธุ์ กล่าวต่อว่า ขณะที่เมื่อคืนวาน (7พ.ย.) ช่วงเวลา 24.00 น. มีหย่อมความกดอากาศสูงเลื่อนลงมาจากประเทศจีน ขณะเดียวกันก็มีหย่อมความกดอากาศต่ำเลื่อนขึ้นไปกระทบกัน ทำให้เกิดฝนตกปานกลางถึงหนักในพื้นที่กรุงเทพฯในเวลา 01.00 น. โดยปริมาณฝนสูงสุดที่จุดวัดสำนักงานเขตจตุจักร 100 มิลลิเมตร(มม.) จุดวัดน้ำคลองบางนา ตอน ถ.ศรีนครินทร์ เขตบางนา 95.5 มม. มีรายงานน้ำท่วมขังถนนสายหลักที่รับผิดชอบ จำนวน 9 จุด ประกอบด้วย 1.ถนนประชาราษฎร์สาย 2 เขตบางซื่อ 2.ถนนงามวงศ์วาน บริเวณหน้าตลาดอมรพันธ์ เขตจตุจักร 3.ถนนงามวงวศ์วาน บริเวณตลาดพงษ์เพชรและชินเขต เขตจตุจักร 4.ถนนพัฒนาการ บริเวณหน้าโชว์รูมเบนซ์ เขตสวนหลวง 5.ถนนเฉลิมพระเกียรติ ร 9 บริเวณแยกศรีอุดม เขตประเวศ 6.ถนนสุขุมวิท บริเวณไบเทคบางนา เขตบางนา 7.ถนนศรีนครินทร์ บริเวณแยกหมู่บ้านนักกีฬา เขตสะพานสูง 8.ถนนรัชดาภิเษก บริเวณหน้าราชภัฏจันทร์เกษม เขตจตุจักร 9.ถนนสุขุมวิท บริเวณสถานีรถไฟฟ้าแบริ่ง เขตบางนา
"ส่วนใหญ่สามารถระบายน้ำขังรอการระบายให้กลับสู่สภาวะปกติได้ภายในระยะเวลา 2 ชม. จุดที่ระบายน้ำได้ช้าที่สุดคือบริเวณถนนสุขุมวิท ช่วงสถานีรถไฟฟ้าแบริ่ง เขตบางนา น้ำท่วมขังเวลา 03.00 น. แห้งเป็นปกติเวลา 07.30 น. สูง 5-20 เซ็นติเมตร แต่คาดว่าวันนี้จนถึงวันที่ 10 พ.ย.ในพื้นที่กรุงเทพฯ จะยังมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากหย่อมความกดอากาศสูงและความกดอากาศต่ำมาเจอกัน โดยเมื่อเดือนพ.ย.2558 กรุงเทพฯมีปริมาณฝนตกทั้งเดือนอยู่ที่ 36.5 มม. แต่เฉพาะวันนี้ (8 พ.ย.) กรุงเทพฯมีปริมาณฝนตกถึง 35 มม."นายจักกพันธุ์ กล่าว
นายจักกพันธุ์ กล่าวด้วยว่า หากปริมาณฝนที่ตกลงมาไม่เกิน 60 มม. กทม.ยังมีความมั่นใจว่าสามารถดูแลประชาชนได้ แต่หากฝนตกปริมาณมากกว่านั้นต้องใช้เวลาในการระบายน้ำขังรอการระบายออกจากพื้นที่ โดยใช้เวลาประมาณ 30 นาทีถึง 2 ชั่วโมง ซึ่งพล.ต.อ.อัศวินได้สั่งการในที่ประชุมคณะผู้บริหารกทม.นโยบายแรก โดยให้สำนักการระบายน้ำหาวิธีบริหารจัดการน้ำหากมีฝนตก ให้ระบายน้ำขังออกจากพื้นที่ให้เร็วที่สุด ใช้เวลาให้น้อยที่สุด ส่วนจุดอ่อนน้ำขังรอการระบายในพื้นที่ 21 จุด กทม.มีแผนแก้ไขอย่างถาวร ซึ่งต้องประสานขอความร่วมมือจากหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาจุดอ่อนทั่ง 21 จุดให้มีจำนวนลดลง หรือไม่มีปัญหาน้ำท่วมขังต่อไปในอนาคต
จากนั้น นายจักกพันธุ์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมความคืบหน้าโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำคลองหลุ่มไผ่ คลองโคกคราม และโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำคลองเสือน้อย ในพื้นที่เขตบางเขนและเขตลาดพร้าว โดยนายจักกพันธุ์ กล่าวว่า โครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำคลองหลุ่มไผ่ คลองโคกคราม มีความยาวของเขื่อนที่จะก่อสร้าง 9,260 เมตร ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังได้ 11 หมู่บ้าน รวมถึงถนนในเขตลาดพร้าว เขตบางเขน อาทิ ถนนลาดปลาเค้า ถนนมัยลาภ ส่วนโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำคลองเสือน้อยเป็นการก่อสร้างเขื่อนความยาว 7,410 เมตร หลังจากก่อสร้างแล้วเสร็จจะมีสถานีสูบน้ำเพื่อดึงน้ำให้ออก 2 ทาง ทั้งทางด้านคลองลาดพร้าวและทางด้านคลองจั่น ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาน้ำท่วมครอบคลุมพื้นที่ 10 ตารางกิโลเมตร ในพื้นที่เขตลาดพร้าว ถนนโชคชัย รวมถึงบริเวณโดยรอบถนนสุคนธสวัสดิ์ โดยคาดว่าการก่อสร้างดังกล่าวจะแล้วเสร็จในเดือน ก.พ.2560
"จากการศึกษาโครงการ หากการก่อสร้างระบบระบายน้ำคลองเสือน้อยแล้วเสร็จคาดการณ์ว่าจะสามารถรองรับปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมา 100 มิลลิเมตรต่อชั่วโมงได้ ส่วนการจัดการบ้านเรือนที่รุกล้ำลำคลองมีจำนวน 39 หลังคาเรือน ทางสำนักงานเขตได้เจรจาขอคืนพื้นที่ทั้งหมดแล้ว" นายจักกพันธุ์ กล่าว