ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน รักษเกชา แฉ่ฉาย แถลงคำวินิจฉัยต่อกรณี อดีตสมาชิก สปช. ไพบูลย์ นิติตะวัน ยื่นเรื่องต่อให้พิจารณาวินิจฉัยข้อกฎหมาย ในประเด็นขั้นตอนการเสนอชื่อแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช ตามมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมปี 2535 ว่า หน่วยงานใดมีอำนาจในการเสนอชื่อแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช รวมถึงมติของมหาเถรสมาคม ในการเสนอชื่อสมเด็จช่วง เป็นพระสังฆราชองค์ที่ 20 ถูกต้องตามขั้นตอนหรือไม่
นายรัษเกชา แถลงว่ามติของมหาเถรสมาคม ในการเสนอชื่อสมเด็จช่วงเป็นพระสังฆราชองค์ที่ 20 ไม่ถูกต้องตามขั้นตอน พร้อมยืนยันด้วยหลักฐานรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ถึงเจตนารมณ์ ในการแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ เมื่อปี 2535 ที่บอกอย่างชัดเจนว่า ต้องเริ่มต้นเสนอชื่อผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมโดยนายกรัฐมนตรีก่อน จากนั้นจึงส่งให้ มหาเถรสมาคม เห็นชอบ ดังนั้น มติมหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นการประชุมลับ เมื่อวันที่ 5 มกราคม ให้เสนอชื่อสมเด็จช่วง เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เป็นสมเด็จพระสังฆราช จึงเป็นการดำเนินการที่ผิดขั้นตอนของกฎหมาย
นายรัษเกชา บอกอีกว่า ได้ส่งผลคำวินิจฉัยให้ นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา จากนั้นคาดว่านายกรัฐมนตรี จะส่งเรื่องต่อให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ ที่กำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และส่งเรื่องกลับไปยังมหาเถรสมาคมต่อไป
"คำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน ไม่ได้ก้าวล่วงมหาเถรสมาคม และไม่ใช่การครอบงำฝ่ายศาสนจักรแต่อย่างใด "นายรักษเกชา ยืนยัน