เมื่อวันที่ 27 ม.ค.ที่ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ศ.เกียรติคุณ พญ.พรสวรรค์ วสันต์ นายกสมาคมเพื่อเด็กพิการแต่กำเนิด (ประเทศไทย) ที่ปรึกษาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากการทำโครงการร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ได้ลงพื้นที่ในประเทศไทยพบร้อยละ 40 ของหญิงตั้งครรภ์มีปัญหาตัวซีดส่งผลให้ทารกที่เกิดมามีปัญหาเรื่องเชาว์ปัญญาต่ำ พิการแต่กำเนิด ติดเชื้อง่าย เป็นต้น การป้องกันต้องหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ และสารเสพติด ที่สำคัญต้องได้รับโฟเลตอย่างเพียงพอระหว่างที่มีการตั้งครรภ์เนื่องจากโฟเลตมีผลต่อการสร้างดีเอ็นเอ สร้างตัวอ่อน
การที่แม่มีโฟเลตต่ำจะทำให้ดีเอ็นเอแบ่งตัวไม่พอต่อการแบ่งเซลล์ อวัยวะหลายอย่างตาย เด็กที่เกิดมาไม่แข็งแรง ไม่สมบูรณ์ เป็นปากแหว่งเพดานโหว่ แขน ขาพิการ หัวใจพิการ เป็นต้น จึงจำเป็นต้องดูแลตั้งแต่ต้นน้ำคือการให้โฟเลตในหญิงวัยเจริญพันธุ์อายุ 15-49 ปีตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ และระหว่างตั้งครรภ์ตั้ง ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการหารือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)ก็ให้ความสนใจในเรื่องนี้ศ.เกียรติคุณ พญ.พรสวรรค์กล่าว
ศ.นพ.วรศักดิ์ โชติเลอศักดิ์ อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การป้องกันความพิการตั้งแต่กำเนิดให้ได้ผลควรรับประทานโฟเลตก่อนการตั้งครรภ์ โดยหลักการควรรับประทานขนาด 0.4 มิลลิกรัม หรือ400 ไม่โครกรัม ก่อนมีเพศสัมพันธ์เป็นเวลาอย่างน้อย 6 สัปดาห์ จนถึงการตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก เพื่อป้องกันความพิการรุนแรงแต่กำเนิดสมอง ไขสันหลัง หัวใจ แขน ขา ระบบทางเดินปัสสาวะและระบบทางเดินอาหาร ได้ร้อยละ 50 โดยเฉพาะความพิการทางด้านสมองและไขสันหลังนั้นสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้ถึงร้อยละ 70 ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกหรือฮูได้ประกาศเป็นแนวทางปฏิบัติในการลดความพิการตั้งแต่กำเนิดสำหรับทุกประเทศทั่วโลก และประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา ได้ออกเป็นกฎหมายในการเสริมโฟเลตในหญิงวัยเจริญพันธุ์ทุกคน และให้มีการผสมลงในอาหารด้วยผลจากมาตรการดังกล่าวทำให้ลดอัตราเด็กพิการแต่กำเนิดลงได้กว่าร้อยละ 50 อัตราการความพิการน้อยกว่าร้อยละ 2 ในปัจจุบัน ส่วนประเทศในเอเชียยังไม่มีประเทศใดออกเป็นกฎหมายมีเพียงประกาศแนวทางไว้เท่านั้น ประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ส่วนตัวเห็นด้วยให้มีการประกาศเป็นกฎหมายแต่ถ้าจะผสมลงในอาหารนั้นอาจจะทำได้ยากเนื่องจากอาหารของไทยนั้นหลากหลายมาก
ประเทศไทยมีทารกพิการตั้งแต่กำเนิดประมาณ 3-4 % ต่อปี ประมาณเกือบ 40,000 คน ถือเป็นอัตราที่คงที่ แต่หากเราเริ่มเสริมโฟเลตก็จะสามารถลดความพิการลงได้ครึ่งหนึ่งหรือประมาณ 20,000 คน ต่อปี เป็นเรื่องที่คุ้มค่ามากเมื่อเทียบกับการให้โฟเลตซึ่งราคาเม็ดละไม่ถึง 1 บาท ในคนปกติกินแล้วก็ไม่มีอันตรายเพราะเป็นวิตามินที่ละลายน้ำไม่เกิดการสะสมในตับ ส่วนข้อกังวลว่าจะไปทำให้โรคขาดวิตามินบี 12 มีอาการน้อยหรือไม่แสดงอาการนั้นที่อเมริกาใช้มา 10 ปี ก็ไม่พบปัญหาตามที่กังวลเขาจึงได้ออกเป็นกฎหมาย ในอาหาร เช่น ผักใบเขียวสดๆ ก็มีโฟเลตเช่นกัน แต่จากค่าเฉลี่ยการได้รับโภชนาการของคนไทยแล้วพบว่ามีโฟเลตเพียง 100 ไมโครกรัมเท่านั้น แต่ขนาดที่ต้องการคือ 400 ไมโครกรัม การเพิ่มการรับประทานให้ได้มากถึง 4เท่านั้นเป็นเรื่องยาก จึงเน้นเสริมในลักษณะของวิตามินดีกว่า ศ.นพ.วรศักดิ์ กล่าว
นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กรมอนามัยอยู่ระหว่างการศึกษาการให้โฟเลตแบบสมัครใจ คือให้สิทธิประโยชน์ในการรับวิตามินรวมเหล็ก ไอโอดีน และโฟเลตสำหรับกลุ่มหญิงวัยเจริญพันธุ์สัปดาห์ละ 1 เม็ด แต่ใช้งบประมาณไม่มากเนื่องจากราคาเม็ดละไม่ถึง 1 บาท ในขณะที่หญิงวัยเจริญพันธุ์อายุ 15-49 ปีของไทยรายงานปี 2557 มี17,789,671 คน และหากยังเข้าไม่ถึงการได้รับโฟเลตอย่างเพียงพอก็จะมีมาตรการบังคับด้วยการผสมลงไปในอาหารโดยไม่ทำให้คุณค่าและรสชาติเสียไป ขณะนี้กำลังดูว่าจะเสริมโฟเลตเข้าไปในอาหารชนิดใดได้บ้าง เช่น ผสมเข้าไปในแป้งสาลี แป้งข้าวโพด หรือใส่ในกลุ่มเครื่องปรุง เป็นต้น
พล.ท.อำนาจ บาลี ผู้อำนวยการสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ความพิการแต่กำเนิดถือเป็นปัญหาที่พบได้ทั่วโลก ในครอบครัวที่มีคนพิการ 1 คน ก็เท่ากับพิการทั้งครอบครัว ต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายสูงถึง 600-7,000 ล้านบาทต่อปี แต่ถ้าจัดหายาเม็ดโฟเลตซึ่งราคาไม่ถึง 1 บาทให้กับหญิงตั้งครรภ์ หรืออนาคตสามารถผสมในอาหารได้ก็จะช่วยลดความพิการในเด็กได้จำนวนมาก ครอบครัว ประเทศก็ไม่ต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายมาก