เมื่อวันที่8มกราคม ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 9.00 น. พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธานประชุมนัดพิเศษเพื่อไกล่เกลี่ยปัญหาความขัดแย้งภายในมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ หรือ เอแบค โดยก่อนหน้านี้คณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.) มีมติเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาใน2แนวทาง ได้แก่ แนวทางที่ 1.ให้ไกล่เกลี่ยพูดคุยกับทั้งสองฝ่าย ว่าจะสามารถทำความเข้าใจกันได้หรือไม่ และแนวทางที่ 2.ให้นำมาตรา86(4)และวรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546และที่แก้ไขเพิ่มเติมมาบังคับใช้
โดย พล.อ.ดาว์พงษ์ เปิดเผยภายหลังประชุมหารือนานกว่า3ชั่วโมง ว่าการประชุมครั้งนี้มีกรรมการสภาฯ ทั้งสองฝ่ายเข้าร่วมหารือ โดยเฉพาะ นายสุทธิพร ปทุมเทวาภิบาล รักษาการอธิการบดีม.เอแบคภราดาบัญชา แสงหิรัญ อธิการบดี และภราดาสุรสิทธิ์ สุขชัย นายกสภาฯ แต่เพราะเป็นการเรียกประชุมด่วน ทำให้กรรมการสภาฯมาไม่ครบทุกคนและยังไม่มีมีข้อยุติสุดท้ายจริง ซึ่งได้แจ้งที่ประชุมว่าในฐานะรมว.ศึกษาธิการ ที่ต้องใช้อำนาจตามมาตรา 86 ของพ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. 2546 ยืนยันว่าไม่ได้อยากใช้ และอยากให้ทั้งสองฝ่ายคุยกันให้ชัดเจนภายใน แต่เท่าที่ได้หารือครั้งนี้พบปัญหาว่าแต่ละฝ่ายไม่เชื่อมั่นในความคิดหรือการทำของกันและกันมีมุมมองที่ต่าง ทั้งยังมีความไม่ลงรอย แต่ทั้งสองฝ่ายต่างพูดตรงกันว่ารักและทำเพื่อมหาวิทยาลัยเอแบค ต้องการทำให้มหาวิทยาลัยมั่นคงและยั่งยืน
ผมใช้เวลาในการฟังกรรมการสภาฯ ทั้งสองฝ่ายพูดคุยและเสนอความคิดเห็นซึ่งในวันนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป ผมให้ทั้งสองฝ่ายกลับไปตั้งสติและนำข้อเสนอแนะที่ผมให้ไปคิดโดยภายใน 7 วัน หลังจากนี้ผมจะเรียกประชุมอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม จากการไกล่เกลี่ย ในวันนี้ผมมีคำตอบในใจแล้ว แต่อยากจะให้แก้ปัญหากันเองก่อน ซึ่งสุดท้ายยังไม่เชื่อมั่นกันก็จำเป็นต้องใช้มาตรา86(4) และจะถือว่าเป็นโอกาสสุดท้าย เพราะเรื่องนี้ยืดเยื้อมานานแล้วผมคงไม่ปล่อยไว้ วันนี้คุยกันนานกว่า 3 ชั่วโมง ยังไม่มีคำตอบ ก็น่าจะเดาว่าจะใช้วิธีใด แต่เรื่องนี้มีความละเอียดอ่อน และมีวัฒนธรรมองค์กรเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบพล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าว
ส่วนนักศึกษาที่กำลังจะเปิดเทอมวันที่11มกราคมนี้นั้น ก็ให้เรียนตามปกติ นาทีนี้ยังไม่มีผลกระทบใด ๆ กับนักศึกษา แต่หากปล่อยไว้นานจะมีผล
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อว่า สำหรับเหตุการณ์ที่มีการกระทบกระทั่งกันนั้น ได้มีการพูดในที่ประชุมโดยไม่ได้ถามถึงสาเหตุ แต่บอกเพียงว่าภาพที่ออกมาให้คิดว่าเหมาะสมหรือไม่ ก็ไม่ได้มีใครอธิบายอะไรแต่ก็เชื่อทุกคนเข้าใจเพราะเป็นผู้ใหญ่และก็คงไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุกรณ์ที่ไม่เหมาะสม นอกจากนี้ ได้สอบถามถึงปัญหาในการดำเนินการ โครงการเครื่องฝึกบินจำลองของคณะวิศวกรรมศาสตร์ แต่เรื่องนี้ต้องแยกแยะระหว่างสาเหตุของปัญหากับภาพลักษณ์ที่เกิดขึ้นแยกทั้งสองเรื่องออกจากกันคนไทยและศิษย์เก่าเอแบค ตอนนี้มองเอแบคว่าสภาฯเกิดความแตกแยก ต้องแก้เรื่องนี้ก่อน ส่วน การตรวจสอบก็ต้องดำเนินการต่อไป
ทั้งนี้ มาตรา 86 (4) กำหนดไว้ว่า ถ้ามหาวิทยาลัยเอกชน เกิดเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ จากทั้งหมด 4 สาเหตุ ซึ่งรวมถึงการที่สภามหาวิทยาลัย กรรมการสภามหาวิทยาลัย อธิการบดี คณาจารย์ หรือนักศึกษา ดำเนินการอันเป็นภัยร้ายแรงต่อความมั่นคงและความปลอดภัยต่อประเทศ ต่อวัฒนธรรมของชาติ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งกรณีของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ มีความรุนแรงเกิดขึ้นซึ่งส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรม ความสงบ และศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามมาตรา 86 (4) แล้ว ใช้อำนาจตามมาตรา 86 วรรค 2 ตั้งกรรมการเข้าไปควบคุมสถาบันอุดมศึกษาแห่งนั้น ประกอบด้วยกรรมการไม่น้อยกว่า 5 คนแต่ไม่เกิน 15 คน ทำหน้าที่แทนสภามหาวิทยาลัยเดิม พร้อมออกประกาศควบคุมมหาวิทยาลัยในหนังสือพิมพ์ไม่น้อยกว่า 3 วัน