svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ยิ่งลักษณ์ สู้สุดฤทธิ์ งัดไม้เด็ดร้องศาลฎีกานักการเมือง ส่งศาล รธน.ตีความกฎหมายการไต่สวนพยาน

"ยิ่งลักษณ์" ร้องศาลฎีกาฯ นักการเมือง ส่งศาล รธน.ตีความกฎหมายวิอาญานักการเมือง ม.5 ขัดไม่ขัด รธน.60 ม.235 ลุ้นส่งพยานล็อตสุดท้าย 8 คน อดีต ขรก.-นักวิชาการไต่สวนสู้จำนำข้าว 21 ก.ค.นี้ หลังไต่สวนพยานนัด 14 "นิวัฒน์ธำรง" ยันทุกฝ่ายสนับสนุนจำนำข้าวดีไม่ยกเลิก อ้างสภาพัฒน์หนุนทำถึงปี 58ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ.แจ้งวัฒนะ

 วันที่ 7 ก.ค.60 เวลา 09.30 น. นายชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกา เจ้าของสำนวนคดีจำนำข้าวคดีหมายเลขดำ อม.22/2558 พร้อมองค์คณะรวม 9 คน ได้ไต่สวนพยานจำเลยนัดที่ 14 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อายุ 50 ปี อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ในความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 กรณีละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาทโดยวันนี้ ทนายความ น.ส.ยิ่งลักษณ์นำพยานเข้าไต่สวนทั้งสิ้น 4 ปาก

ซึ่งนายสุรชัย ศรีสารคาม อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก พยานปากแรกเบิกความสรุปว่า การรับจำนำข้าวเป็นกฎเกณฑ์จากส่วนกลาง และการดำเนินโครงการก็อยู่ในเกณฑ์ทั้งหมด ซึ่งจังหวัดตนก็ผ่านการประเมินจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) โดยไม่มีปัญหาการรับจำนำข้าวที่ทำให้ภาพรวมเสียหาย และมีการดำเนินการอย่างเข้มงวดในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เพราะมีส่วนเกี่ยวข้องหลายขั้นตอน โดยการขึ้นทะเบียนชาวนามีประชาคมทำหน้าที่ตรวจสอบว่าเป็นเกษตรกรทำนาจริงหรือไม่ มีพื้นที่นาเท่าไหร่ ส่วนการรับจำนำมีผู้ตรวจสอบและออกใบประทวน จ่ายเงินตรงให้เกษตรกร การเก็บข้าวในโกดังยังมีเจ้าหน้าที่ถือกุญแจคนละดอกไม่ให้มีการสับเปลี่ยนข้าว หากมีการสวมสิทธิสามารถตรวจสอบพบได้ง่าย การรับจำนำข้าวเป็นการชุบชีวิตชาวนาให้มีเงินจับจ่าย เศรษฐกิจฐานรากหมุนเวียน มีชีวิตดีขึ้น

เมื่ออัยการถามถึงกรณีที่คณะกรรมการชุด มล.ปนัดดา ดิศกุล ตรวจสอบข้าวแล้วมีผลการประเมินว่าข้าวเสื่อม นายสุรชัย กล่าวว่า มล.ปนัดดา กำหนดมาตรฐานขึ้นมาเองแทนที่จะใช้มาตรฐานกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งมีข้อสงสัยถึงการสุ่มตัวอย่างที่ใช้กลุ่มเล็กมาประเมินภาพรวม ผู้ตรวจสอบก็ไม่มีความชำนาญเพราะใช้ทหารตรวจ และยังมีการนำข้าวดีไปประมูลเป็นอาหารสัตว์ น่าจะมีการตรวจสอบใหม่ให้ชัดเจนต่อไป เพราะต่างจากผลการประเมินของ ก.พ.ร. ที่เชื่อถือได้

ขณะที่นายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ พยานปากที่ 2 เบิกความสรุปว่า ตนไม่ใช่คณะทำงานที่ทำเรื่องโครงการรับจำนำข้าวโดยตรง แต่ก็มีหน้าที่สนับสนุนโครงการ ซึ่งตนก็เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยในการร่างโครงการตั้งแต่แรก ต่อมาในช่วงที่มีโครงการรับจำนำข้าวตนได้รับมอบหมายให้ดูเรื่องน้ำ โดยโครงการบริหารจัดการน้ำฯ ไม่ได้เป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องแถลงต่อรัฐสภา และที่ถูกระงับไปเพราะเกิดการรัฐประหารขึ้น ส่วนมาตรการเยียวยาที่มอบหมายให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง อดีตรองนายกรัฐมนตรี เข้ามาตรวจสอบทุจริตในโครงการระบายข้าวหรือไม่นั้น ตนไม่เคยได้ยินเรื่องนี้ ขณะที่หนังสือท้วงติงโครงการจำนำข้าวจากหลายหน่วยงานซึ่งแบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ 
กลุ่มการเมืองเมื่อมีการอภิปรายในสภาไม่ว่าจะเป็นประเด็นใดที่เกี่ยวกับโครงการ น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็จะสั่งให้มีการตรวจสอบ ซึ่งการอภิปรายก็เป็นการจบสิ้นในสภา กลุ่มที่สองก็จะเป็นนักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ ซึ่งก็มีจุดยืนเรื่องนี้อย่างที่ทราบกันว่าจะเห็นด้วยกับโครงการประกันราคาข้าวมากกว่าการจำนำข้าว ส่วนอีก 2 กลุ่มที่เหลือจะเป็นกลุ่มราชการ เช่น กรมบัญชีกลาง และกลุ่มองค์กรอิสระ เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ที่เมื่อมีการตรวจสอบพบเจอเราก็มีการลงโทษ ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะมีปรารภในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เสมอ และหน่วยงานที่รับผิดชอบก็รับเรื่องไปดำเนินการ ส่วนเรื่องที่บริษัทสยามอินดิก้า จำกัด ส่งออกข้าวไปนอกประเทศในปริมาณสูงมาก ตนไม่ทราบรายละเอียด โดยการนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม ครม.จะถูกกลั่นกรองจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีก่อน และจากประสบการณ์ไม่เชื่อว่าที่ประชุม ครม.จะมีรายละเอียดเกี่ยวกับปริมาณการขายข้าวของบริษัทเอกชน ทั้งนี้ ยอมรับว่ารัฐบาลรับจำนำข้าวสูงกว่าราคาตลาดมากกว่า 50-60 เปอร์เซ็นต์จริง เพราะเชื่อว่ารัฐบาลทำได้และเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ซึ่งก็ยอมรับอีกว่าไม่เคยมีรัฐบาลไหนให้ราคามากขนาดนี้

ด้าน พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ พยานปากที่ 3 เบิกความสรุปว่า ตนเคยเข้าร่วมประชุม ครม.ได้ยินจำเลยกำชับให้ดำเนินโครงการรับจำข้าวตามหลักเกณฑ์ แต่ไม่เคยเห็นว่าจำเลยสั่งให้มีการตรวจสอบนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือเสี่ยเปี๋ยง และบริษัทสยามอินดิก้า ซึ่งกรณีการตรวจสอบทุจริตเมื่อพบว่ากรณีมีมูลก็จะมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ หากพบมีผู้เกี่ยวข้องกับหน่วยงานกระทำผิดก็จะตั้งประเด็นสอบ โดยข้อเท็จจริงที่ตั้งสอบจะต้องเป็นประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อความเสียหายของทางราชการ หากคณะกรรมการสอบสวนพบข้อพิรุธเพิ่มเติมก็สามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มได้ก่อนรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ ส่วนเรื่องที่มีการท้วงติงว่าข้าวไม่ได้ส่งออกไปนอกประเทศ รวมถึงมีการสั่งจ่ายเช็คภายในประเทศในโครงการระบายข้าวรัฐต่อรัฐ ตนไม่ทราบเพราะไม่ได้รับผิดชอบ

ส่วน นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ พยานปากที่ 4 เบิกความในช่วงบ่าย ตอบคำถามอัยการโจทก์ถึงการตรวจสอบการระบายข้าวว่า โครงการมีระบบบริหารจัดการเอื้อกับกฎหมาย อำนาจหน้าที่ของนายกฯ คือให้นโยบายมอบหมายสั่งการ ผู้รับมอบต้องไปปฏิบัติราชการตามที่ได้รับมอบหมาย ไม่ใช่นายกฯ รับผิดชอบคนเดียว ยังมีทั้ง ครม. คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กบข.) ด้วย นอกจากนี้ยังมีการตั้งคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตในโครงการโดย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ส่วนการระบายข้าวสามารถดำเนินการได้รวดเร็ว โดยระบายได้เกือบ 1 ล้านตัน การดูแลรักษาข้าวในสต๊อกมีสัญญาให้ดูแลให้ได้สภาพตามมาตรการของกระทรวงพาณิชย์ มีสัญญาประกันภัยพิบัติ มีผู้รับผิดชอบ ซึ่งจะระบายให้หมดปีต่อปีเป็นไปไม่ได้ ในอดีตมีข้าวค้างสต๊อก 3 ล้านตันเป็นเรื่องปกติธรรมดา

ส่วนเรื่องราคาขายข้าว นายนิวัฒน์ธำรง เบิกความว่า ความแตกต่างของสัญญามาจากการที่ผู้ซื้อขายต้องต่อรองราคาที่ดีที่สุด รวมถึงปัจจัยความต้องการข้าว ซึ่งการขายแต่ละครั้งไม่เหมือนกันเพราะสภาวะต่างกัน แต่มีเงื่อนไขตามยุทธศาสตร์ระบายข้าว การเสนอราคาต้องดูผลกระทบภายในประเทศด้วย ขณะที่โครงการรับจำนำข้าวรัฐบาลคิดขึ้นมาโดยมีการศึกษาจากหลายกลุ่มแล้ว ต้องกำหนดราคาให้เหมาะสม ที่ผ่านมาชาวนามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ไม่ดี รัฐบาลเก่าๆ เคยตั้งราคารับจำนำต่ำกว่าราคาตลาดไม่ได้ช่วยชาวนา เราจึงตั้งให้ราคาเหมาะสมคุ้มทุนมากขึ้นโดยตั้งราคาสูงกว่า

สำหรับหนังสือข้อท้วงติงโครงการรับจำนำข้าว นายนิวัฒน์ธำรงค์ กล่าวว่า แต่ละเรื่องมีการกลั่นกรองโดยเลขาฯ และคณะกรรมการต่างๆ ก่อนเข้า ครม. ที่ต้องไปทำรายละเอียดให้รอบคอบก่อน ไม่เคยละเลยข้อทักท้วง ทั้งหนังสือของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และ ป.ป.ช. สิ่งที่ทั้งสองหน่วยงานส่งมาดีมีประโยชน์ เราก็นำไปปรับปรุงบริหารจัดการ ส่วนเรื่องกำไรขาดทุนที่เป็นประเด็นใหญ่ โครงการสาธารณะขาดทุนทั้งนั้น เป็นรัฐบาลต้องแก้ปัญหาประเทศเพื่ออนาคต โดยมีการตรวจสอบมาตลอด นายกฯ มีหน้าที่สั่งการข้างบน แต่บางครั้งก็ไปนั่งเป็นประธานตรวจสอบด้วย ถ้าใครทำผิดมีการตรวจสอบดำเนินการตามกฎหมาย ส่วนกรณีเสี่ยเปี๋ยงและบริษัทสยามอินดิก้านั้น ไม่ใช่คู่สัญญากับรัฐ เราจึงไม่มีหน้าที่ไปตรวจสอบ อย่างไรก็ตาม นายกฯ ได้ให้กระทรวงพาณิชย์ตรวจสอบข้อเท็จจริง มีการพยายามติดต่อสอบถามไปแต่เขาไม่มา ขณะเดียวกันฝ่ายค้านก็ส่งข้อมูลให้ ป.ป.ช.ไต่สวน และยังไม่ชี้มูลใดๆ ในช่วงนั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าใครกระทำผิดจึงไม่รู้จะสอบอะไรเพิ่มเติม

เมื่อถูกอัยการถามถึงการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว นายนิวัฒน์ธำรง เบิกความว่า การระงับยับยั้งโครงการต้องทำในกรณีที่จำเป็น โครงการนี้ทุกฝ่ายสนับสนุนมาโดยตลอด ผลสำรวจต่างๆ บอกว่าโครงการดีมีประโยชน์ต่อชาวนาและเศรษฐกิจของประเทศ สภาพัฒน์ฯ (ชื่อเต็มในปัจจุบันคือ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) ยังบอกว่าให้ดำเนินการต่อถึงปี 2558 จึงไม่มีเหตุผลในการสั่งยกเลิก

ส่วนเหตุที่รัฐบาลไม่สามารถแจ้งตัวเลขการขาดทุนและตัวเลขการระบายข้าวที่แท้จริงให้ทราบได้ นายนิวัฒน์ธำรง ตอบว่า เป็นเรื่องไม่ควรเปิดเผย ซึ่งกำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ระบายข้าว เพราะจะทำให้เกิดความผกผันในราคาและสร้างการต่อรอง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้เปิดเผยพอสมควร การประชุม ครม.ก็มีข้อมูลในเว็บไซต์ที่ตรวจสอบได้ มีข้อมูลที่ประชาชนทราบได้จากสื่อ

ส่วนตัวชี้วัดโครงการรับจำนำข้าว และการมีหนี้ค้างชำระในโครงการ นายนิวัฒน์ธำรง กล่าวว่า อยู่ที่การแก้ปัญหาหนี้สิน พัฒนาความเป็นอยู่ของชาวนา และการทำให้เศรษฐกิจประเทศดีขึ้น มีกรอบงบประมาณภาระหนี้ไม่เกิน 15 % กรอบการใช้เงินทั้งโครงการไม่เกิน 5 แสนล้านบาท ส่วนที่มีหนี้ค้างชำระมาก เนื่องจากกระทรวงการคลังนำตัวเลขโครงการในอดีตมารวมกับเงินในโครงการแรก ตัวเลขจึงคาดเคลื่อนเยอะมาก ทำให้เกิดการกล่าวหาว่าจำเลยทำโครงการขาดทุนสูงมาก ทั้งที่ไม่ได้ใช้เงินเกิน 5 แสนล้านบาท ส่วนการขาดทุนเป็นคนละเรื่องกับการใช้เงินในโครงการ

นายนิวัฒน์ธำรง ยังเบิกความด้วยว่า มีการจัดทำรายการแสดงผลการดำเนินโครงการรับจำนำข้าว มีไว้ในรายงานประจำปีที่ได้แถลงต่อรัฐสภา แต่เป็นรายงานภาพรวมทุกโครงการ ไม่เฉพาะแต่โครงการรับจำนำข้าว ขณะที่การตรวจสอบการระบายข้าวแบบจีทูจี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็มีนโยบายตรวจสอบให้เป็นไปอย่างโปร่งใสมาตั้งแต่ต้นจากมติที่ประชุม ครม.เมื่อปี 2555 และเมื่อตนได้เข้ามารับตำแหน่ง รมว.พาณิชย์ ก็ได้แก้ไขการระบายข้าวให้ครบถ้วนขึ้น ส่วนภายหลังจากการอภิปรายรัฐบาล ระหว่างวันที่ 23-25 พ.ย.55 แล้วยังมีการเซ็นสัญญาซื้อขายข้าวแบบจีทูจี อีก 4 ฉบับนั้นก็เป็นดุลยพินิจของคณะอนุกรรมการระบายข้าวกับกรมการค้าต่างประเทศ ซึ่งเป็นขั้นตอนของผู้ปฏิบัติงาน ประกอบกับมีกำหนดเซ็นสัญญาซื้อขายข้าวกันในช่วงนั้นพอดี

ภายหลังวันนี้ศาลไต่สวนพยานจำเลย 4 ปากเสร็จสิ้น ทนายความจำเลยก็แถลงไม่ประสงค์จะนำ พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา รอง ผบ.ตร. และข้าราชการในสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี(สปน.) พยานอีกปากไต่สวนอีก ศาลจึงนัดไต่สวนพยานจำเลยกลุ่มสุดท้ายอีก 8 ปากซึ่งประกอบด้วยพยานซึ่งเป็นอดีตข้าราชการและนักวิชาการในวันที่ 21 ก.ค.นี้เวลา 09.30 น.

อย่างไรก็ดีในวันนี้ฝ่ายจำเลย ได้ยื่นคำร้องขอศาลฎีกาฯส่งประเด็นให้ศาลรัฐธรรมนูญ ตีความว่าบทบัญญัติมาตรา 5 ของพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 เกี่ยวกับการยึดสำนวน ป.ป.ช.เป็นหลักในการพิจารณาว่าจะขัดหรือไม่ขัดกับบทบัญญัติ มาตรา 235 ของ รัฐธรรมนูญฯ ปี 2560 เนื่องจากรัฐธรรมนูญฯ ใหม่ ระบุตอนท้ายด้วยว่า การพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ให้นําสํานวนการไต่สวนของ ป.ป.ช.เป็นหลักในการพิจารณา และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมให้ศาลมีอํานาจไต่สวนข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ แต่ในมาตรา 5 พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ระบุว่า การพิจารณาคดี ให้ศาลยึดรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็น หลักในการพิจารณา และอาจไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร โดยองค์คณะฯ ได้รับคำร้องของจำเลยไว้พิจารณาเพื่อมีคำสั่งอีกครั้งในนัดหน้า 21 ก.ค.นี้ ว่าจะให้ส่งหรือไม่ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ