svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

สถิติการสำรวจดาวอังคาร

ดาวอังคารหรือดาวแดง ที่มีขนาดเล็กเป็นอันดับที่ 2 ในระบบสุริยะรองจากดาวพุธ ได้รับความสนใจนาซาจนมีการส่งยานไปสำรวจหลายครั้ง เรามาดูลำดับเหตุการณ์ว่าได้มีการส่งยานสำรวจตั้งแต่เมื่อไหร่และมียานอะไรบ้าง

การสำรวจดาวอังคารเริ่มต้นจาการที่สหรัฐและสหภาพโซเวียต ส่งยานอวกาศมุ่งหน้าสู่ดาวอังคาร ตั้งแต่ปี 2507 และยานมารีเน่อร์ 4 ขององค์การบริหารอวกาศและการบินแห่งชาติของสหรัฐ หรือ นาซา ประสบความสำเร็จในการโคจรผ่านดาวอังคารเป็นครั้งแรก เมื่อปี 2508

ซึ่งตอนนั้น ก็มีการคาดเดากันแล้วว่า คงมีน้ำ / ของเหลวอยู่บนพื้นผิวดาวอังคาร จากนั้นจึงมีการส่งยานไวกิ้ง 1 ขึ้นไปสำรวจดาวอังคาร เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2518 และยานไวกิ้ง 2 ในปีถัดมา

โดยทั้งสองลำทำให้นักวิทยาศาสตร์ได้ข้อมูลเกี่ยวกับดาวอังคารมามากมายผ่านภาพสีที่ถูกถ่ายจากระยะไกล และพื้นผิวในระยะใกล้รวมกว่า 50,000 ภาพ ที่จัดได้ว่าเป็นความยิ่งใหญ่ของเทคโนโลยีในยุคนั้นเลยทีเดียว อีกทั้งตัวยานที่ออกแบบมาให้มีอายุการใช้งานเพียง 90 วัน แต่เมื่อถึงเวลาจริงๆ กลับสามารถปฏิบัติภารกิจได้ยาวนานถึง 6 ปีกว่า พร้อมทั้งยังเป็นต้นแบบของการนำยานลงจอดโดยใช้ร่มชูชีพและเกราะป้องกันความร้อนอีกด้วย

ต่อมานาซาส่งยานมาร์ส โกลบอล เซอร์เวเยอร์ ออกไปในเดือนพฤศจิกายน ปี 2539 เพื่อโคจรรอบดาวอังคาร พร้อมทั้งทำการสำรวจและถ่ายภาพพื้นผิวดาวอังคารอย่างละเอียด เพื่อนำไปทำแผนที่ดาวอังคาร ตรวจชั้นบรรยากาศ และวัดค่าสนามแม่เหล็ก

โดยได้เปิดเผยภาพถ่ายอย่างละเอียดของใบหน้าปริศนาบนดาวอังคาร ว่าแท้จริงแล้วไม่ได้มีความลึกลับแต่อย่างใด เพราะเป็นแค่เพียงเนินเขาที่ถูกน้ำและลมกัดเซาะเพียงเท่านั้น โดยยานลำนี้สามารถส่งภาพจากพื้นผิวของดาวอังคารกลับมาได้มากถึง 240,000 ภาพ ดังนั้นจากเดิมที่เคยวางแผนโครงการเอาไว้แค่เพียง 2 ปี ก็ได้ถูกขยายภารกิจออกไปเป็น 4 ปี ควบคู่กับยานมาร์ส พาธ ไฟน์เดอร์

ต่อมานาซาได้ส่งยานมาร์ส เอ็กซ์พลอเรชั่น โรเวอร์ ตามไปอีกเมื่อปี 2547 ซึ่งอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ ทั้งหมดนั้นไม่ได้อยู่ที่ตัวยาน แต่กลับติดตั้งเอาไว้ในหุ่นยนต์"โรเวอร์" และถูกส่งออกไปทำการสำรวจแทน โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการขับเคลื่อนเพื่อค้นหาร่องรอยของน้ำบนดาวอังคาร

แต่หลังจากภารกิจนี้ดำเนินอยู่หลายปี จนกระทั่งปี 2552 ล้อของหุ่นยนต์โรเวอร์ กลับติดอยู่ในพื้นทรายบนดาวอังคาร จนต้องเปลี่ยนให้เป็นสถานีวิจัยคงที่แทน ก่อนที่จะสูญเสียการติดต่อเมื่อปี 2553 เนื่องจากอาจเกิดความเสียหาย หรือ ถ้าเปรียบเทียบกับมนุษย์ก็อยู่ในขั้นหลับลึก

จากนั้นก็ถึงคิวของยานสำรวจ "คิวริออสซิตี" ที่ไปลงจอดบนดาวอังคารเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2555 ที่ผ่านมา ผลการสำรวจโดยรวมต่างเป็นที่น่าพอใจ นักวิทยาศาสตร์ได้องค์ความรู้เกี่ยวกับธรณีวิทยาทั้งทางกายภาพและทางเคมีของดาวเคราะห์ดวงนี้เพิ่มมากขึ้น

แต่ถึงกระนั้นนักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่หยุดสงสัย ยังไม่หยุดตั้งคำถาม ยังคงเร่งพัฒนาเครื่องมือและผลักดันโครงการสำรวจโครงการใหม่ๆ เกี่ยวกับดาวอังคาร ล่าสุดนาซาได้มีโครงการเตรียมไว้แล้วคือ โครงการ Mars 2020 ที่เพียบพร้อมไปด้วยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัย