ทั้งนี้ก็เพราะ ฉลาดเกมส์โกง มีการออกแบบ วางแผน จัดวาง ซ่อนหมากกลเงื่อนปมไว้เป็นอย่างดี ตั้งแต่บทหนังที่เขียนขึ้นภายใต้ฉากหลังที่อัดแน่นไปด้วยการค้นคว้าข้อมูลของการสอบประเมินผลในระบบศึกษาไทยและจำลองออกมาด้วยการนำเสนอภาพอย่างย่นย่อทว่าสมจริง บนเส้นเรื่องหลักที่ว่าด้วยการคิดค้นอุบายกลโกงของเด็กกลุ่มหนึ่ง จากที่แค่ช่วยเพื่อนสอบให้ได้คะแนนดีเพื่อจะได้เล่นละครเวที ก่อนจะบานปลายลุกลามนำไปสู่การแสวงหาผลประโยชน์มหาศาลจากการโกงข้อสอบครั้งมโหฬาร
ไม่เพียงผ่านการศึกษาหาข้อมูลของระบบการสอบประเมินผล แต่บทหนังยังแสดงรายละเอียดเล็กๆน้อยๆด้านวิชาการอาทิโจทย์วิชาคณิตศาสตร์ที่แม้จะแสดงตัวอย่างผิวเผิน แต่ก็ได้ผลลัพธ์เชิงเทคนิคในฐานะองค์ประกอบหนึ่งที่สร้างอารมณ์ชวนระทึก เร้าใจไปกับกลวิธีลอกข้อสอบของเด็กๆ แม้ว่าจะเล่าปูมหลังและให้น้ำหนักของเด็กกลุ่มที่มีปัญหาการเรียนน้อยไปสักนิดก็ตาม เช่นว่าทำไม เด็กกลุ่มที่ผลการเรียนมีปัญหาถึงเอาตัวรอดมาได้จนถึง ม.5 ม.6 หรือกระทั่งตัวละครสำคัญอย่างเกรซและพัฒน์ ที่กังวลว่าผลการเรียนตัวเองต่ำ แต่หนังก็ไม่บอกให้รู้ว่าพวกเขาเรียนย่ำแย่แค่ไหน (แม้จะเรียนในสถาบันมีชื่อด้านวิชาการระดับประเทศและค่าเล่าเรียนแพงลิบลิ่วก็ตาม)
รวมทั้งปมเรื่องครอบครัวของลินตัวละครเอกในรื่องที่หนังแสดงให้เห็นเพียงฉากเดียวก็อาจไม่ได้มีน้ำหนักพอที่จะทำให้เธอลงมือโกงข้อสอบ เพียงเพราะอยากเอาชนะสถาบันการศึกษาที่เธอรู้สึกว่ากำลังเอาเปรียบเธอและเพื่อนๆอยู่ รวมถึงการพบว่าครูบางคนที่หาประโยชน์จากสอนพิเศษนอกเวลามากกว่าการสอนในชั้นเรียน แต่พล็อตส่วนนี้ค่อนข้างเด่นมากในแง่การวิพากษ์ระบบการศึกษาไทยไม่นับรวมเรื่องชนชั้นทางสังคม(ความแตกต่างทางฐานะระหว่างพัฒน์-เกรซและลิน-แบ้งค์)ที่นำพวกเขามาเจอกัน สร้างเงื่อนไขต่อกันและเกิดแรงจูงใจให้ตัวละครแต่ละคนตัดสินใจลงมือกระทำบางอย่างลงไป
แม้บทหนังจะมีช่องโหว่อยู่บ้าง แต่คนทำหนังก็ใช้ชั้นเชิงและลูกเล่นทางเทคนิคตลอดจนกลวิธีเล่าเรื่องมากมายปิดรูรั่ว ดึงความสนใจคนดูไปสู่สิ่งอื่นๆที่ชวนให้ตื่นเต้นกว่าไม่ว่าจะเป็นฉากในห้องสอบที่ลินใช้สัญญลักษณ์ในการเฉลยข้อสอบให้เพื่อนๆ(ลูกค้า)ของเธอระหว่างทำข้อสอบหรือการสับหลอกในวิธีเล่าเรื่องระหว่างแนะนำตัวละครและโดยเฉพาะเทคนิคด้านภาพยนตร์ที่ไม่ใช่แค่ถ่ายสวยตัดต่อหวือหวาฉากหรือสถานที่ถ่ายทำสมจริง หากแต่เป็นการใช้ไวยากรณ์ทางภาพยนตร์เพื่อสื่อความหมายและรับใช้เนื้อหาอันนำไปสู่จุดหมายที่ปลายทางที่ตั้งใจของคนทำหนัง เป็นความสามารถในการเล่าเรื่องที่ทั้งสนุกและกระตุกต่อมคิดไปในเวลาเดียวกัน
ฉากที่ยั่วล้อเหน็บแนมทัศนคติหรือค่านิยมแบบปากว่าตาขยิบของสังคมไทยได้ ขบขันแบบขื่นๆ ปรากฎในฉากที่กลุ่มเพื่อนมารวมตัวกันที่โรงพิมพ์ของครอบครัวเพื่อกระทำภารกิจโกงข้อสอบระดับโลกครั้งสำคัญ ทว่าบนผนังและเพดานภายในอาคารกลับมีข้อความประเภท คติ เตือนใจให้ทำงานอย่างซื่อสัตย์หมั่นเพียรอยู่เต็มไปหมดที่สำคัญคนดูกำลังถูกจูงไปเป็นผู้รู้เห็นในกระบวนการโกง ของเด็กๆที่เห็นๆกันอยู่ว่าเป็นเรื่องผิดทำนองคลองธรรมแต่ก็อดไม่ได้ที่จะเอาใจช่วยให้พวกเขากระทำการสำเร็จโดยมีบทหนังวางปมไว้ถึงความด้อยของสถานะทางสังคม (ลินมีพ่อคนเดียวคอยเลี้ยงดูอยากส่งเสียให้ลูกเรียนดีๆไม่ต่างจากแบ้งค์ ที่ต้องช่วยแม่ทำงานเลี้ยงครอบครัวด้วยกิจการร้านซักรีดเก่าๆ) บทสนทนาสำคัญระหว่างลินกับแบ้งค์เกิดขึ้นในฉากที่พวกเขาตัดสินใจลงมือโกงข้อสอบระดับชาติ เมื่อเธอบอกว่า "เรามันพวก Looser เหมือนกัน ถึงเราไม่โกงใคร ชีวิตมันก็โกงเราอยู่ดี"
อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราเชื่อและเอาใจตัวช่วยตัวละครในหนังคือการคัดเลือกนักแสดงได้อย่างเหมาะสมและแต่ละคนก็ทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างสมบูรณ์แบบ เป็น Best Essemble หรือกลุ่มนักแสดงยอดเยี่ยมที่ทำงานสอดประสานรับส่งเสริมกันและกันได้อย่างลงตัวไม่ว่าจะเป็น สาวเนิร์ด เรียนเก่งอย่าง "ลิน"(บางมุมเธอก็ดูเหมือนสาวร้าย) รับบทโดยออกแบบ ชุติมณฑน์จึงเจริญสุขยิ่ง \ "แบงค์" แสดงโดย นน ชานนสันตินธรกุล \ "เกรซ" รับบทโดย "อุ้ม" อิษยาฮอสุวรรณและ "พัฒน์" รับบทโดยเจมส์ ธีรดนย์ศุภพันธุ์ภิญโญรวมถึงพ่อ "ประวิทย์"โดยธเนศวรากุลนุเคราะห์ทั้งหมดนี้เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนหนังไปสู่จุดหมายภายใต้การดูแลของผู้กำกับ-ร่วมเขียนบท นัฐวุฒิ พูนพิริยะ ที่เรียกว่าได้หนัง ฉลาดเกมส์โกง เป็นงาน Craft ของเขา ที่ช่วยพัฒนาหนังไทยไปสู่ความหลากหลายในอีกระดับ
ถึงที่สุดแล้วแม้ดูเหมือนว่าหนังจะพาเราเดินมาสู่ Moral Dilemma หรือทางแยกแห่งศีลธรรม หรือความขัดแย้งทางจริยธรรมในมโนสำนึก หรือไม่ว่าอะไรก็ตามในความหมายดังกล่าว แต่สิ่งที่ตัวละครเลือกกระทำในวาระสุดท้าย ไม่ใช่คำตอบที่เลือกข้างฝั่งใดฝั่งหนึ่งซะทีเดียว นั่นหมายความว่าหลังได้รับบทเรียนสำคัญในชีวิตครั้งนี้ ใช่ว่าเด็กๆจะโตไปไม่โกงเสียเมื่อไหร่ หนังไม่ได้ตั้งคำถามหรือให้บทสรุปที่ชัดเจนใดใด แต่ไอ้ความคลุมเครือเคลือบแคลงแบบนี้ ก็มักจะเกิดขึ้นบ่อยๆในสังคมไทยทุกเมื่อเชื่อวันอยู่มิใช่หรือ