ผอ.สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรหรือ สนข.ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ระบุกลางเดือน ก.ย.นี้ ญี่ปุ่นจะส่งผลการศึกษาความเหมาะสมโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-ญี่ปุ่น เส้นทางกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ระยะทาง 380 กิโลเมตรฉบับสุดท้ายให้ฝ่ายไทยพิจารณา
หลังจากนั้น สนข.จะส่งให้การรถไฟแห่งประเทศไทยหรือ ร.ฟ.ท.และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือ สศช.พิจารณาก่อนส่งข้อมูลกลับไปให้ญี่ปุ่นจัดทำรายงานฉบับสมบูรณ์ภายในปีนี้
ส่วนผลการศึกษาล่าสุด ระบุว่า รถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-พิษณุโลก จะใช้ระบบชินกันเซ็ง มีทั้งหมด 6 สถานี ใช้วงเงินลงทุน 2.2-2.3 แสนล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้างงานโยธา 70% ค่าติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและการจัดหาขบวนรถ 30%
ผลศึกษาเสนอว่าภาครัฐควรลงทุนรถไฟความเร็วสูง 100% โดยในส่วนของการเดินรถให้เอกชนเป็นผู้บริหาร โดยให้อายุสัมปทาน 30 ปี แต่ขณะนี้ยังไม่ได้สรุปว่าการลงทุนควรเป็นรูปแบบใด โดยไทยมีแนวคิดว่าจะชวนญี่ปุ่นร่วมหุ้นแบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี
สำหรับอัตราค่าโดยสารแรกเข้าอยู่ที่ 50-80 บาทต่อเที่ยว จากนั้นเพิ่มขึ้นกิโลเมตรละ 1.50 บาท หรือตลอดเส้นทางอยู่ที่ 500-600 บาทต่อเที่ยว ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 252.3 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 179,413 ล้านบาท