svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

จีนผนึก 16 ชาติ! ต้านสงครามการค้าสหรัฐ

จีนผนึก 16 ชาติพันธมิตรทางการค้าต้านสงครามการค้าของสหรัฐ หลังทรัมป์เซ็นคำสั่งบริหาร (Executive Order) ถอนตัวจาก TPP ซึ่งเขาอ้างว่ากระทบต่อการจ้างงานและการผลิตที่สร้างความหายนะให้กับสหรัฐ โดยพร้อมที่จะตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากประเทศเอาเปรียบการค้า โดยท่าทีแข็งกร้าวของทรัมป์ได้ส่งผลให้ 9 ประเทศที่มีฐานะเกินดุลการค้ากับสหรัฐตกอยู่ในอาการร้อนๆ หนาวๆ

นอกจากนี้ ทรัมป์เตรียมนำกฎหมายกลับมาใช้ใหม่กรณีการทำแท้งและตั้งกำแพงภาษีกับเม็กซิโก และยังได้ลงนามใน Executive Orders 2 ฉบับ ลดระเบียบการทำงานเพื่อกระตุ้นการลงทุนของภาคธุรกิจสหรัฐ และลดการจ้างงานของภาครัฐด้วย

1.ไม่เพียงแต่ประเทศสมาชิกว่าด้วยความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ TPP (Trans-Pacific Partnership) ซึ่งสหรัฐเป็นตัวตั้งตัวตีจัดตั้งขึ้นในสมัยประธานาธิบดีบารัก โอบามา มาตั้งตั้งแต่ปี 2015 ร่วมกับญี่ปุ่น แคนาดา ชิลี เม็กซิโก เปรู ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม กลับกำลังกังวลกับลัทธิกีดกันทางการค้าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สร้างขึ้น และมีการเซ็นคำสั่งบริหารให้สหรัฐถอนตัวจาก TPP ทันทีที่ก้าวย่างเข้าสู่ทำเนียบขาวเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
แต่มีรายงานว่า 9 ประเทศที่มีฐานะเกินดุลการค้ากับสหรัฐกำลังกังวลว่าจะตกเป็นเป้าหมายของสงครามการค้าที่อาจจะรุนแรงมากขึ้น จากสถิติในปี 2015 ประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐในสัดส่วนค่อนข้างสูง นำโดยจีนที่มีฐานะเกินดุลการค้ากับสหรัฐสูงกว่า 3.65 แสนล้านดอลลาร์ ตามมาด้วยเม็กซิโกมีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐมากกว่า 8 หมื่นล้านดอลลาร์ เยอรมันมีการเกินดุล 7 หมื่นล้านดอลลาร์ ญี่ปุ่นเกินดุล 6 หมื่นล้านดอลลาร์ แคนาดาเกินดุล 5 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่วนเวียดนาม ไอร์แลนด์ อิตาลี และเกาหลีใต้ ที่มีการเกินดุลในระหว่าง 3-4 หมื่นล้านดอลลาร์
โดยล่าสุดในเวทีประชุม World Economic Forum ที่ดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ นำโดยจีน และ 16 ชาติพันธมิตรในความร่วมมือทางการค้า หรือ RECP (Regional Economic Comprehensive Partnership) ที่ประกอบด้วยกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ รวมทั้งญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย ได้ร่วมกันเรียกร้องให้ผู้นำใหม่ของสหรัฐยึดหลักการค้าเสรีภายใต้โลกาภิวัตน์ต่อไป

2.เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาทรัมป์ยังได้เซ็นในคำสั่ง Executive Orders อีก 2 ฉบับ โดยลดระเบียบการทำงานเพื่อกระตุ้นการลงทุนของภาคธุรกิจสหรัฐ และลดการจ้างงานของภาครัฐด้วย เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อการบริหารประเทศในสมัยของเขา แต่คำสั่งดังกล่าวยังคงยกเว้นงบอุดหนุนด้านการทหารที่ยังคงดำเนินการต่อเนื่องไป

3.อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ได้ถูกมองว่า ภายใต้ความแข็งกร้าวในการเข้ามาบริหารประเทศปัจจุบัน กลับเป็นยุคหนึ่งที่ต้องแบกรับความเสี่ยงสูงสุดกับการต้องแบกรับภาระหนี้ของรัฐบาลที่มีจำนวนมหาศาลถึง 20 ล้านล้านดอลลาร์นับตั้งแต่หลังสงครามโลกเป็นต้นมา
ในขณะที่ยังมีคนอเมริกันอีกกว่า 23.5 ล้านคนที่อยู่นอกตลาดแรงงาน ซึ่งเป็นพลเมืองชาวอเมริกันที่อยู่ในวัย 25 ปี ถึง 54 ปี ทำให้ทรัมป์ต้องเข้ามาจัดการระบบเศรษฐกิจของสหรัฐอยู่ในภาวะที่เกิดการจ้างงานในภาคธุรกิจเอกชนอย่างเต็มที่ โดยประกาศที่จะเพิ่มตำแหน่งงานใหม่ให้ได้ 25 ล้านคนในอีก 10 ปีข้างหน้าท่ามกลางจีดีพีที่จะต้องเติบโตให้ได้ปีละ 4%

4.ความท้าทายในลัทธิกีดกันทางการค้าตามนโยบายของทรัมป์ที่ต้องการดึงให้อีก 11 ประเทศใน TPP หลังจากการถอนตัวของสหรัฐ มาเป็นการเจรจาการค้าระหว่างประเทศต่อประเทศ ซึ่งนอกจากจะส่งผลต่อภาวะการค้าที่มีความไม่แน่นอนมากขึ้น ยังจะสั่นสะเทือนต่อภาวะเศรษฐกิจโลกด้วย เนื่องจากประเทศต่างๆ ที่อยู่ใน TPP อีก 11 ประเทศนั้นมีสัดส่วนในจีดีพีโลกถึง 13.5% จะได้รับผลกระทบที่มีแนวโน้มความไม่แน่นอนด้วยเช่นกัน
จนกลายเป็นคำถามที่เกิดขึ้นว่า ท่ามกลางลัทธิกีดกันทางการที่โหมมาจากผู้นำสหรัฐวันนี้ ควรจะมี Plan B ซึ่งถือเป็นสำรองไว้รับมืออย่างไร

5.สำหรับไทยก็คงหลีกเลี่ยงต่อความเสี่ยงทางการค้าที่อาจจะเกิดขึ้น โดยไทยก็อยู่ในกลุ่มที่มีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2016 ถึงแม้จะมีมูลค่าเล็กน้อยเพียง 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราว 4.05 แสนล้านบาท เมื่อเทียบกับจีนที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐ 12.77 ล้านล้านบาท หรือ 3.65 แสนล้านดอลลาร์
แต่ไทยก็ไม่ควรประมาท และนี่ถือว่าเป็น Plan B ของประเทศไทยที่จะเตรียมรับมือศึกสงครามการค้าในอนาคตหรือไม่
โดย ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ กล่าวว่า จุดยืนของประเทศไทยยังคงเดินหน้าสู่ ไทยแลนด์ 4.0 ที่จะมีการพัฒนาสู่ระบบเศรษฐกิจที่เป็น Digital Economy โดยเร่งปรับตัวในยุทธศาสตร์ 6 ด้านคือ ความร่วมมือและสร้างสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับกลุ่มอาเซียนที่มากขึ้น การเพิ่มประสิทธิในดัชนีการลงทุน การพัฒนาการเกษตรไทยสู่โลก การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การรักษาดัชนีความเชื่อมั่น และรักษาขีดแข่งขันของประเทศ