ความคืบหน้าล่าสุดเมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 23 เมษายน ที่กองบังคับการปราบปราม(บก.ป.) พล.ต.ต.สุทิน ทรัพย์พ่วง ผบก.ป. พร้อมด้วย พ.ต.อ.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผกก.4 บก.ป และเจ้าหน้าที่ตำรวจกก.4 บก.ป ร่วมกันแถลงผลการจับกุม 4 ผู้ต้องหลอกขายสินค้าไมโลคิวบ์ผ่านเฟซบุ๊กดังกล่าว ประกอบด้วย น.ส.นริศรา ลิ้มฉาย อายุ 24 ปี นายนวพล ลิ้มฉาย อายุ 19 ปี นายวุฒิพงษ์ เหมมาลา อายุ 24 ปี และ นายวัชรินทร์ จันทร์หอม อายุ 29 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาที่ 991-994/2560 ลงวันที่ 22 เมษายน 2560 ในข้อหา ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยจับกุมได้ที่จ.ราชบุรี
พล.ต.ต.สุทิน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20 เมษายน ที่ผ่านมา ทาง กก.4 บก.ป ได้รับแจ้งจากผู้เสียหายกรณีถูกผู้ต้องหาหลอกให้โอนเงินเพื่อซื้อสินค้าผ่านทางเฟซบุ๊ก แต่เมื่อโอนเงินไปแล้วกลับไม่ได้รับสินค้า เมื่อทวงถามผู้ต้องหาได้ปิดเฟซบุ๊ก และแอพพลิเคไลน์หลบหนี ทำให้ทราบว่าถูกหลอกลวงได้รับความเสียหาย นอกจากนี้มีผู้เสียหายหลายรายถูกหลอกให้โอนเงินรวมเป็นเงินหลายแสนบาท หากมีผู้เสียหายรายอื่นที่ถูกกลุ่มผู้ต้องหากลุ่มนี้หลอกให้โอนเงินซื้อสินค้าก็สามารถเข้ามาแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีได้
ด้าน พ.ต.อ.จรูญเกียรติ กล่าวว่า สำหรับสาเหตุสืบเนื่องมาจากกระแสความนิยมในตัวสินค้าไมโลคิวบ์ ซึ่งเป็นสินค้าที่ไม่ได้มีการจำหน่ายในประเทศไทย เมื่อความนิยมเพิ่มขึ้นจึงทำให้มีราคาแพง ซึ่งราคาสินค้า 1 ลัง มี 24 ถุง ราคาในท้องตลาดจะอยู่ที่ 7,500 บาท แต่ทางกลุ่มผู้ต้องหาได้โพสต์ขายสินค้าในราคากว่า 6,000 บาท ทำให้กลุ่มผู้ต้องหาอาศัยช่องทางความต้องการบริโภคสินค้าดังกล่าว จนผู้เสียหายชะล่าใจไม่ได้มีการตรวจสอบข้อมูลของผู้ขายให้ละเอียด ก่อนที่จะโอนเงินชำระสินค้า เนื่องจากผู้เสียหายเชื่อว่า มีสินค้าพร้อมที่จะจำหน่ายเป็นจำนวนมาก แต่ต้องโอนเงินชำระค่าสินค้าก่อน เมื่อโอนเงินแล้วทางผู้ต้องหาได้ปิดเฟซบุ๊ก และลบไลน์ที่เคยติดต่อกับผู้เสียหาย โดยจากการตรวจสอบมีผู้เสียหาย จำนวน 7 ราย มูลค่าความเสียหายประมาณ 2-3 แสนบาท
พ.ต.อ.จรูญเกียรติ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้นายวุฒิพงษ์ได้สร้างเฟซบุ๊กปลอมขึ้นมา เพื่อหลอกผู้เสียหาย โดยนายวุฒิพงษ์ และน.ส.นริศรา จะเป็นผู้พูดคุยหลอกลวงผู้เสียหายทั้งทางเฟซบุ๊ก และ ไลน์ นอกจากนี้นายวุฒิพงษ์และนายนวพล ได้ไปเบิกเงินที่ผู้เสียหายโอนมา ส่วนนายวัชรินทร์ เป็นเจ้าของบัญชีที่ผู้เสียหายโอนเงินให้สอบสวน นายวุฒิพงษ์ รับสารภาพว่า ที่ทำไปเพราะจำเป็นต้องนำเงินไปใช้จ่ายเกี่ยวกับคดีทำร้ายร่างกาย และต้องการเงินไปใช้หนี้นอกระบบที่กู้ยืมมาจากแก๊งหมวกกันน๊อก จำนวน 60,000 บาท หากรวมดอกเบี้ยแล้วจะอยู่ที่ 70,000 บาท เมื่อใกล้ถึงวันที่ 18 เมษายน จึงกลัวจะไม่มีเงินมาหนี้ เพราะกลุ่มที่มาทวงหนี้โหดมาก ทำให้ต้องหาวิธีที่จะนำเงินมาใช้หนี้ ซึ่งปกติแล้วตนได้ขายสินค้าประเภทสบู่ ครีม และสคลับ ผ่านทางเฟซบุ๊กอยู่แล้ว จึงได้ปลอมสร้างเฟซบุ๊กใหม่ขึ้นมา ส่วนสินค้าไมโลคิวบ์มีสินค้าอยู่จริง ต้นทุนหากนำเข้ามาโดยไม่จ่ายภาษีจะอยู่ที่ราคาประมาณ 4,700 บาทต่อลัง หากนำเข้ามาโดยจ่ายค่าผ่านแดน รวมค่าเดินทางจะอยู่ที่ 7,500-8,000 บาท
นายวุฒิพงษ์ กล่าวอีกว่า ตนได้เปิดเฟซบุ๊กเพียงวันเดียว มีผู้เสียหายติดต่อขอสั่งซื้อสินค้า 7 คน รวมเป็นเงินกว่า 2 แสนบาท เมื่อได้เงินครบที่ต้องการแล้ว พอถึงเวลานัดหมายส่งเลยพัสดุ แต่ตนไม่มีเลขพัสดุจะส่งให้ผู้เสียหาย จึงได้ปิดเฟซบุ๊กที่สร้างปลอมขึ้นมา อย่างไรก็ตามอยากเตือนว่าหากไม่อยากตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพอย่างตน ควรตรวจสอบราคาสินค้าตามท้องตลาดก่อน ซึ่งราคาสินค้าควรไม่ต่างกันในหลักร้อย หากเกินหลักพัน ให้สันนิษฐานไว้ว่าอาจจะถูกหลอกได้ ไม่ควรเห็นแก่ราคาถูก และควรเช็กประวัติการซื้อขายกับบุคคลที่จะทำการซื้อสินค้าด้วย