"หญิงไก่" มีชื่อเดิม ว่า นางวันทนีย์ หยกวิริยะกุล ต่อมาในปี 2548 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นนางสุชาดา หยกวิริยะกุล ล่าสุด เปลี่ยนชื่อและนามสกุลอีกครั้งเป็น นางมณตา หยกรัตนกาญ ซึ่งใช้จนถึงปัจจุบัน
ชื่อชั้นของ "หญิงไก่ หรือ นางวันทนีย์ หยกวิริยะกุล เคย ตกเป็นข่าวโด่งดังเมื่อปี 2529-2530 ในคดีต้มตุ๋นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ซึ่งเธอเป็นพยานปากสำคัญในคดีนี้ และเป็นน้องสาวของ นางดวงฤทัย จารุจินดา หรือ กิมเอ็ง แซ่เตีย ผู้ต้องหารายสำคัญ เป็นนายหน้าตุ๋นโฮโซคนดังในสังคม เพื่อแลกกับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จนทำให้ ตระกูลจารุจินดา ต้องออกมาชี้แจงว่าไม่ พบนางดวงฤทัย จารุจินดา อยู่ในสารบบของตระกูล
ปมคดีทุจริตเครื่องราชฯ เมื่อสำนักเลขาธิการ ครม. ปี 2529 ตรวจสอบพบรายการขอรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปี 2529 ของผู้ทำคุณประโยชน์แก่ทางราชการ กว่า 750 รายการ มีใบอนุโมทนาบัตรรวมวงเงินกว่า 1,400 ล้านบาท ส่อเค้าไม่ถูกต้อง เมื่อสุ่มตรวจสอบไปยังแหล่งที่มาต่างระบุว่า ไม่ได้รับการบริจาคตามที่กล่าวอ้างไว้
จากนั้นกระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้ามาตรวจสอบ พบว่า มีพระภิกษุสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โยงไปถึงพระราชปัญญาโกศล หรือเจ้าคุณอุดม รองเจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาสในขณะนั้น ก่อนถูกสึกจากการเป็นพระและดำเนินคดีตามกฎหมาย
ก่อนที่จะมีการขยายผลถึง นางดวงฤทัย หรือ กิมเอ็ง โดยพบบัญชีรายชื่อ และรูปถ่ายแต่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์จำนวนมาก เมื่อตำรวจตรวจสอบย้อนหลังกลับไม่ปรากฏชื่อนางกิมเอ็ง ในราชกิจจานุเษกษา โดยชุดสืบสวนได้พยานปากสำคัญคือ "นางไก่ หรือนางวันทนีย์ น้องสาวของนางกิมเอ็ง
"นางไก่" กลายเป็นกุญแจกออกสำคัญ เพราะรู้พฤติกรรมในการหลอกลวงของพี่สาว รวมถึงการแต่งกายที่มักชอบนำสายสะพายเครื่องราชอิสริยาภรณ์มาสวมใส่แอบอ้างหลอกลวง และ นางไก่ ยังเป็นโจทก์แจ้งความเอาผิดกับ นางกิมเอ็ง ฐานฉ้อโกงด้วย
ระหว่างการดำเนินคดี นางไก่ พยายามกินยาฆ่าตัวตาย อ้างว่าน้อยใจผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่เคยรับปาก จะให้ความคุ้มครอง แต่สุดท้ายกลับปฏิเสธ ทำให้เสียใจและกินยาหวังฆ่าตัวตายในห้องพัก เคราะห์ดีเจ้าหน้านำตัวส่งโรงพยาบาลได้ทัน หลังจากนั้นชื่อชั้นของ "หญิงไก่" ก็เงียบหายไปจนกระทั่งคดีนี้สิ้นสุด จนเวลาล่วงเลยมา 29 ปี "หญิงไก่" กลายเป็นข่าวโด่งดังอีกครั้งเมื่อแจ้งข้อหานิสิตสาว วัย 19 ปี ในข้อหาลักทรัพย์กว่า 10 ล้านบาท.