เมื่อเวลา 12.30 น. พ.ต.ท.อลงกรณ์ ศิริสงคราม รอง ผกก.หัวหน้างานสอบสวน สน.โชคชัย พร้อมคณะ นำสำนวนการสอบสวน พยานเอกสารหลักฐาน 417 แผ่น และสรุปความเห็นสมควรสั่งฟ้อง นายพีรพล ยศพงศ์อนันต์ อายุ 21 ปี , นายอรินทร์ ยศพงศ์อนันต์ อายุ 20 ปี ซึ่งเป็นพี่น้องกัน , นายอัครเดช ทัศนะ อายุ 22 ปี , นายมนต์มนัส แสงโพธิ์ อายุ 22 ปี , นายเมฆ พลไกรษร อายุ 19 ปี และนายจตุพร จันทร์โสภา อายุ 18 ปีเศษ และน.ส.ณัฐณิชา หรือเกมส์ ฤทธิ์ล้ำเลิศ อายุ 19 ปีเศษ ผู้ต้องหาที่ 1-7 ฐาน ร่วมฆ่า นายสมเกียรติ ศรีจันทร์ ชายขาพิการ ประกอบอาชีพส่งขนมปังร้าน ปังหอม ย่านโชคชัย 4 โดยเจตนา , ร่วมพกพาอาวุธมืดไปในเมืองหมู่บ้านหรือทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุผลสมควร และร่วมกันบุกรุกเคหสถานโดยมีอาวุธมือและใช้กำลังประทุษร้าย ให้นายสมนึก โอภาปัญญโชติ อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 9 เพื่อพิจารณาสั่งคดี ทั้งนี้สำหรับผู้ต้องหาทั้ง 7 คน ดังกล่าว ปัจจุบัน อยู่ระหว่างการฝากขัง ซึ่งถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ โดยไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราวแต่อย่างใด
ภายหลัง พ.ต.ท.อลงกรณ์ รอง ผกก.หัวหน้างานสอบสวน สน.โชคชัย กล่าวว่า ตามสำนวน ผู้ต้องหาที่ 1-7 ถูกแจ้งข้อหา ร่วมฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และร่วมพกพาอาวุธมืดไปในเมืองหมู่บ้านหรือทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุผลสมควรฯ ขณะที่มีผู้ต้องหา 4 คน ถูกดำเนินคดีข้อหาร่วมกันบุกรุกเคหสถานโดยมีอาวุธมือและใช้กำลังประทุษร้าย
พ.ต.ท.อลงกรณ์ รอง ผกก.หัวหน้างานสอบสวน สน.โชคชัย กล่าวอีกว่า ส่วนข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนนั้น ชั้นสอบสวนเห็นว่าพยานหลักฐานยังมีน้ำหนักไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตามตำรวจไม่รู้สึกกังวลใดๆเนื่องจากได้สอบสวนจากพยานหลักฐานที่มีอยู่จริงและให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
เมื่อถามว่า หากอัยการสั่งให้สอบเพิ่มเติม ข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนจะทำได้หรือไม่ พ.ต.ท.อลงกรณ์ รอง ผกก.หัวหน้างานสอบสวน สน.โชคชัย กล่าวว่า หากพนักงานอัยการ พิจารณาแล้วเข้าหลักเกณฑ์ในข้อหาดังกล่าว อัยการก็สามารถสั่งให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาได้
ด้านนายณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา กล่าวว่า ขอเวลาตรวจสำนวนของพนักงานสอบสวนให้ละเอียดก่อน ทั้งนี้ขอยืนยันว่าจะไม่ทำงานตามกระแส จะต้องดูเหตุและผลในพยานหลักฐานให้ชัดเจนก่อน
ขณะที่นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา กล่าวถึงเรื่องที่ นายอนันตชัย ไชยเดช ทนายความของญาติผู้ตายได้ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมวันนี้ถึงอัยการสูงสุด เพื่อให้พิจารณเพิ่มข้อกล่าวหากับผู้ต้องหาข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน พร้อมคัดค้านไม่ให้นายปรเมศวร์ร่วมพิจารณาสำนวนคดีดังกล่าวเนื่องจากก่อนหน้านี้ให้สัมภาษณ์วิจารณ์คดีอาจมีส่วนได้ส่วนเสียทางคดีว่า คงไม่เป็นไร เพราะตนไม่ได้ทำคดีนี้อยู่แล้ว ซึ่งสำนักงานอัยการคดีอาญา 9 ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบสำนวนนั้นไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ดูแลของตน แต่เป็นรองอธิบดีฯ อีกคนหนึ่ง
" แม้ผมได้รับมอบหมายให้ดูแลคดีนี้ ก็จะต้องถอนตัวอยู่แล้วเพื่อความสบายใจ ผมก็เป็นคนแนะนำเองว่าถ้าหากไม่สบายใจ ก็ตั้งข้อรังเกียจได้ ซึ่งมีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง แต่ปกติจะใช้สำหรับผู้พิพากษากรณีที่ขัดแย้ง โกรธเคืองกัน การแนะนำก็ให้นายอนันตชัย ไปยื่นไปเพื่อความสบายใจ ส่วนการขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมนั้นนายอนันตชัย จะต้องไปขอที่ศาล ซึ่งศาลก็จะอนุญาตหากได้ความว่า เป็นผู้เสียหายจริง " นายปรเมศวร์ กล่าวและว่า มาตรา 288 นั้นก็มีโทษสูงสุดให้ประหารชีวิต ถ้าเราสืบพยานแล้วเห็นว่าผู้ต้องหากระทำความผิดร้ายแรงมาก ศาลก็ลงโทษประหารชีวิตได้อยู่แล้ว แต่การไปกำหนดว่าจะต้องเข้ามาตรา 289 ซึ่งเป็นการฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อนนั้น ถ้าข้อเท็จจริงไม่ได้แล้วไปฟ้องแบบนั้นเท่ากับบีบบังคับกระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะศาลมากไป
เมื่อถามว่า หากสุดท้ายพนักงานอัยการไม่สั่งฟ้องผู้ต้องหา มาตรา 289 ข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน แต่สุดท้ายแล้วญาติผู้เสียชีวิตได้เข้าเป็นโจทก์ร่วม และนำพยานหลักฐานเข้าสืบตามกฎหมายแล้วศาลจะสามารถลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289 ได้หรือไม่
นายปรเมศวร์ กล่าวว่า ศาลจะลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา แต่อาจจะกำหนดโทษบทหนักให้ประหารชีวิตได้ ซึ่งไม่ต่างกัน แต่ที่นายอนันตชัย ต้องการ คืออยากให้ศาลกำหนดโทษประหารชีวิตสถานเดียว ถ้าหากเราฟ้อง มาตรา 289 แต่ศาลฟังว่าผิดตามมาตรา 288 ก็สามารถลงโทษประหารได้ แต่โดยปกติแล้วนักกฎหมายจะไม่ตั้งข้อหาหนักกว่าที่ข้อเท็จจริงปรากฏ การตั้งข้อหาหนักจะทำให้ใช้หลักทรัพย์เยอะการประกันตัวลำบาก แต่โทษในคดีนี้ก็สูงถึงขั้นประหารชีวิตได้อยู่แล้ว ถ้าเห็นศาลเห็นพฤติการณ์ว่า เลวร้ายก็สามารถที่จะกำหนดบทลงโทษหนักได้