บนท้องถนนในเวลานี้มี บิ๊กไบค์" ที่ขับขี่โดยเยาวชนอายุน้อยและอยู่ในวัยเรียน ทั้งที่สนนราคาของรถจักรยานยนต์ประเภทนี้ค่อนข้างสูง ต่ำสุดไม่น้อยกว่า 2 แสนบาท ไปจนแตะหลักล้านบาท โดยพวกเขาอ้างว่ามีไว้เพื่อขี่ไปโรงเรียน เพราะทนรำคาญปัญหารถติดไม่ไหว หากต้องเดินทางด้วยยานพาหนะชนิดอื่น
"ขี่มา 2 ปีแล้ว เพราะไม่ชอบรถติด แบบว่าโรงเรียนกับบ้านอยู่ไกลก็เลยขี่มอเตอร์ไซค์ แรกๆ ขี่มอเตอร์ไซค์ธรรมดาแล้วมันช้าไม่ได้ใจ ไปโรงเรียนสายบ่อยก็เลยขี่บิ๊กไบค์ แรกๆ พ่อแม่ก็ไม่เห็นด้วย เพราะว่ารถมันคันค่อนข้างใหญ่ ไม่เหมาะกับผู้หญิง อันตราย กลัวจะเกิดอุบัติเหตุและราคาค่อนข้างสูง แต่ก็ขอไปเข้าคอร์สฝึกขี่บิ๊กไบค์ก่อนเขาก็เลยให้ขี่ แรกๆ ก็ตื่นเต้น ขี่อยู่แต่ในซอยบ้าน ยังไม่กล้าออก แต่ตอนนี้คล่องแล้ว ก็มีบ้างที่กลัวจะเกิดอุบัติเหตุ แต่ว่าเราก็มีอุปกรณ์เซฟให้มันดูปลอดภัยขึ้น" เด็กสาววัย 18 ปี ที่ขี่บิ๊กไบค์คันโตไปเรียนโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งหนึ่งย่านลาดพร้าวบอก
สอดคล้องกับเด็กหนุ่มวัย 18 ปี เพื่อนร่วมห้องชั้น ม.6 ของเธอ ที่ชื่นชอบการขี่บิ๊กไบค์ไปเรียนหนังสือเช่นกัน บอกว่า ขี่บิ๊กไบค์ไปโรงเรียนตั้งแต่มัธยมศึกษาปีที่ 2 เหตุเพราะหลงใหลในสีสันความมีเสน่ห์ของตัวรถที่ใหญ่และเป็นสิ่งท้าทาย นอกจากจะขี่ไปเรียนแล้วยังชอบขี่ไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ
"ขี่มาตั้งแต่ ม.2 แต่ไล่ขึ้นมาตามซีซี ตั้งแต่ 500 ซีซี จนถึงตอนนี้ผมขี่จนพันกว่าซีซีแล้ว ถามว่ากลัวมั้ย ก็กลัวนะ เพราะเพื่อนรุ่นน้องก็เพิ่งเสียไปเพราะขับบิ๊กไบค์แหกโค้ง ทำให้ทุกครั้งที่ขยับไปใช้รถคันที่ใหญ่ขึ้นก็จะไปฝึกก่อน ซึ่งคงใช้งานไปเรื่อยๆ ทั้งไปเรียน ขี่ไปเที่ยวต่างจังหวัด กาญจนบุรี พัทยา บางแสน ไกลสุดก็เพชรบูรณ์" เด็กหนุ่มวัย 18 ปี เจ้าของบิ๊กไบค์คันโต กล่าว
ข้อมูลของกรมการขนส่งทางบกพบว่า 2-3 ปีมานี้มีแนวโน้มว่า ยอดการจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ที่มีขนาดกระบอกสูบมากกว่า 150 ซีซี จะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2557 มียอดจดทะเบียน 48,716 คัน ปี 2558 จดทะเบียนมากถึง 54,475 คัน ส่วน 2 เดือนแรกของปี 2559 ก็มีแนวโน้มสูงขึ้น
ที่น่าเป็นห่วงคือ สถิติการเกิดอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งระยะหลังมานี้อุบัติเหตุบนท้องถนนที่เกิดจากรถจักรยานยนต์กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ เป็นรถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์
พ.ต.อ.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รอง ผบก.จร. เปิดเผยว่า มีรถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกแล้วมากกว่าแสนคัน โดยผู้ขับขี่มีอายุตั้งแต่ 14 ปี ไปจนถึง 50 ปี เท่าที่ติดตามระยะหลังมานี้อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถจักรยานยนต์จะเป็นบิ๊กไบค์เสียส่วนใหญ่ และมักเกิดกับผู้ขับขี่ที่ขาดทักษะ และมักจะเป็นเด็กนักเรียนระดับมัธยมศึกษา ซึ่งปัจจุบันการเข้าถึงรถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ทำได้ง่ายขึ้น แม้สนนราคาจะค่อนข้างแพงแต่มีระบบเงินผ่อน มีวงเงินดาวน์ไม่มากนัก ส่วนหนึ่งมาจากการที่บริษัทผู้ผลิตมาตั้งฐานการผลิตในไทย ทำให้รถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่มีราคาที่ถูกลงและโปรโมชั่นลดแลกแจกแถม ผ่อนดาวน์ได้ง่ายขึ้น
"ตอนนี้มีบิ๊กไบค์จดทะเบียนแล้วหลักแสนคัน ผู้ขับขี่แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ใหญ่อายุมากจะขี่รถจักรยานยนต์แพงๆ คันเป็นล้าน กลุ่มที่ 2 คือระดับกลาง วัยทำงานที่มีความจำเป็นต้องใช้รถขนาดใหญ่ ขนาดกลางและอีกกลุ่มหนึ่งคือวัยรุ่น พบว่ามีเด็กมัธยมถึงระดับอุดมศึกษาขี่กัน ซึ่งกลุ่มหลังนี้น่าห่วง เพราะวุฒิภาวะยังน้อย ขาดทักษะในการขับขี่ เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ และมีบ่อยครั้งที่สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น โดยมักพบการแต่งท่อไอเสียที่เสียงดังเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด" พ.ต.อ.เอกรักษ์ กล่าว สอดคล้องกับ ชาติชาย แซ่ลิ้ม ครูฝึกขี่บิ๊กไบค์ HO Racing School กล่าวว่า กระแสบิ๊กไบค์กำลังอยู่ในความสนใจของเยาวชน ผู้ขับขี่จำนวนไม่น้อยเป็นคนในกลุ่มนี้ และบ่อยครั้งอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นของบิ๊กไบค์ผู้ขี่มักเป็นวัยรุ่นอายุยังน้อย
"คนไทยส่วนใหญ่อีโก้สูง คิดว่าขับได้ไม่ต้องเรียน เลยเกิดอุบัติเหตุบ่อย ทุกครั้งซื้อรถเขาแถมคอร์สเรียนให้อยู่แล้ว แต่ร้อยละ 80 ไม่เรียน เพราะคิดว่าเรียนทำไมขี่ได้แล้ว ขี่ได้กับขี่เป็นต่างกันครับ อุปกรณ์ป้องกันไม่มี บางคนใส่รองเท้าแตะ กางเกงขาสั้น เสื้อยืด ใส่หมวกผ้า อุปกรณ์ป้องกันไม่มี จริงๆ ต้องมีอุปกรณ์หุ้มไหล่ หุ้มเข่า ใส่ถุงมือ ใส่หมวกกันน็อก พอล้มมันจะช่วยป้องกันการเจ็บตัว นี่คือสิ่งที่ถูกต้องก่อนเราจะขี่ คนส่วนใหญ่จะควบคุมเครื่องไม่ได้ เจอทางแปลกๆ ก็จะชอลอความเร็วกะทันหัน เบรกไม่อยู่ ไปโทษถนนลื่นบ้าง" ครูฝึกขี่บิ๊กไบค์ กล่าว
ชาติชายยังบอกอีกว่า ผู้ปกครองตัดสินใจซื้อรถให้ลูกแล้ว ต้องดูความเหมาะสมและพฤติกรรมของลูก บางคนขี่ไปเรียนไม่ยอมใส่หมวก หากเจอกลุ่มเพื่อนที่รักความปลอดภัยก็ดีไป พ่อแม่หลายคนต้องส่งลูกมาเรียนเพราะอุบัติที่เหตุที่เกิดขึ้นตอนนี้มีแต่รถบิ๊กไบค์ทั้งนั้น
ในปี 2559 คงจะเห็นการบังคับการทำใบขับขี่ประเภทรถขนาดใหญ่ออกมาอย่างเห็นเป็นรูปธรรมแล้ว จากการทำงานร่วมกันของกองบังคับการตำรวจจราจร กรมการขนส่งทางบก และผู้เชี่ยวชาญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ โดยมีมติให้รถที่มีความจุกระบอกสูบ 400 ซีซี ขึ้นไป และต้องอายุ 18 ปีขึ้นไป ถึงจะสอบทำใบขับขี่รถประเภทขนาดใหญ่ ปัจจุบันผู้ที่จะทำใบขับขี่รถจักรยานยนต์แบบไม่กำหนดซีซี ต้องอายุ 18 ปี การนำกฎหมายนี้มาใช้โดยมีการศึกษาจากทางประเทศยุโรปที่สามารถควบคุมการใช้รถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่และขนาดเล็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงนำมาปรับใช้ในประเทศไทย และในอนาคตอาจต้องมีสถาบันการฝึกอบรมการขี่รถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่โดยเฉพาะ เปิดจัดอบรมและจัดสอบทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ โดยให้ครูฝึกประเมินว่าผ่านหรือไม่
"กฎหมายกำหนดอายุ 18 ปี สามารถขอใบขับขี่ ขอใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์ได้ทุกประเภท พอกฎหมายเป็นลักษณะนี้ นั่นหมายความว่า รถจักรยานยนต์ขนาด 150 ซีซี และ 1,000 ซีซี อยู่ในข้อบังคับเดียวกัน ทั้งที่ความจริงแล้วการขี่รถบิ๊กไบค์ต้องมีทักษะที่สูงกว่า จึงมีการเสนอให้กรมการขนส่งทางบกแยกใบขับขี่รถจักรยานยนต์เป็น 2 รูปแบบ โดยเสนอให้แบ่ง รถจักรยานยนต์ที่มีขนาดกระบอกสูบ 400 ซีซีขึ้นไป ถือว่าเป็นรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ ต้องมีใบอนุญาตขับขี่เฉพาะ ผู้ที่ขอใบอนุญาตได้ต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป ต้องมีใบรับรองจากสถานประกอบการฝึกอบรมขับขี่บิ๊กไบค์ ผ่านการทดสอบที่เข้มงวด ในการสอบปฏิบัติต้องนำรถขนาดใหญ่มาทดสอบ ซึ่งมาตรการนี้คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในปี 2559 นี้ เพราะทุกวันนี้เจอปัญหาคือ ตอนสอบใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์ เอารถขนาดเล็กมาสอบ พอได้ใบอนุญาตไปขี่รถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ ทักษะไม่เพียงพอ วุฒิภาวะก็ยังไม่เพียงพอ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลต่อการเกิดอุบัติเหตุ ตอนนี้เราพบอุบัติเหตุค่อนข้างเยอะ วันนี้กฎหมายเลยทำอะไรไม่ได้ แต่พยายามปรับปรุง คุยกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง กำหนดขั้นตอนเพื่อให้เกิดความปลอดภัยบนท้องถนน" พ.ต.อ.เอกรักษ์ กล่าว
สอดคล้องกับ ชิณญ์ ตั้งฐานธนา ผู้ขี่บิ๊กไบค์วัย 30 ปี กล่าวว่า วุฒิภาวะเรื่องการตัดสินใจเป็นส่วนสำคัญในการขี่รถขนาดใหญ่ เพราะช่วงอายุวัยในแต่ละวัยการตัดสินใจจะไม่เหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนอายุมากจะขับรถแล้วไม่เกิดอุบัติเหตุ แต่อาจจะเกิดน้อยครั้งไม่เท่ากับวัยรุ่น และมองว่าการออกกฎหมายเช่นนี้ แม้จะนำกฎหมายของยุโรปมาปรับใช้กับคนไทยก็คงต้องลองดูกับบริบทในสังคมไทย
"ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่า อายุมีส่วนกับเรื่องการตัดสินใจ เพราะจะมีวุฒิภาวะที่สูงกว่า หากมีการแก้กฎหมายก็ควรให้คำนึงถึงข้อนี้ ผู้ขับขี่รถทุกประเภทมีความเสี่ยงตลอดเวลา แต่หากมีการฝึกฝนจนมีความเชี่ยวชาญมีทักษะในการขับขี่ที่ดีก็น่าจะลดความเสี่ยงลงได้ในระดับหนึ่ง คงจะดีถ้าคนขับขี่บิ๊กไบค์หลายคนมีวุฒิภาวะหรือมีความเป็นผู้ใหญ่และทำตัวให้แยกออกจากสายกวนเมือง เรายังอยากขับไปไหนยิ้มให้คนและมีคนยิ้มให้เรา เมื่อเราขับเป็นกลุ่มชาวบ้านโบกมือให้เราแล้วเราก็ยิ้มให้ชาวบ้าน เรายังคงอยากให้ภาพลักษณ์ของไบค์เกอร์รถบิ๊กไบค์ที่รูปร่างหน้าตาแบบนี้เป็นหนึ่งในยานพาหนะที่ท่องเที่ยวไปทั่วไทยทั่วโลกมีรอยยิ้ม" ชิณญ์ กล่าว
ไม่ว่ายานพาหนะที่นำมาใช้จะราคาแพง มีสมรรถนะที่สูงเพียงไหน แต่ผู้ขับขี่ไร้วินัย ไม่เคารพกฎจราจร ประมาท ไม่คำนึงถึงความปลอดภัย ก็ยากจะหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุ ที่สร้างความสูญเสียให้แก่ชีวิตและทรัพย์สินของคนไทยไปไม่น้อยในแต่ละปี