จงโคร่ง (Phrynoidis aspera) คือคางคกชนิดหนึ่งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในไทย เมื่อมันโตเต็มที่จะมีความยาวของลำตัวมากกว่า 20 เซนติเมตร และมีน้ำหนักตัวเกือบ 2 กิโลกรัมเลยทีเดียว จงโคร่ง มีชื่อเรียกแตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น เช่น กง คางกง กระทาหอง และกระหอง รวมทั้งหมาน้ำด้วย เพราะมันส่งเสียงร้องได้ ซึ่งเสียงร้องของมันฟังดูคล้ายเสียงสุนัขเห่า
จงโคร่ง อาศัยอยู่ใต้ก้อนหินหรือรากไม้ในแหล่งน้ำไหลใสสะอาดภายในป่า เช่น น้ำตก หรือลำธาร ตีนของมันมีแผ่นหนังเชื่อมต่อระหว่างนิ้ว (พังผืด) เพื่อเคลื่อนที่ในน้ำได้สะดวก สีผิวของจงโคร่งเปลี่ยนได้ตามที่อยู่อาศัย ในเวลากลางวันจงโคร่งมักซ่อนตัวตามรากไม้หรือซอกหิน แต่บ่อยครั้งก็พบฌเห็นว่านอน (ที่จริงอยู่ในท่านั่ง) ชิวๆ บนกิ่งไม้ใหญ่ที่อยู่เหนือลำธาร เมื่อถึงเวลากลางคืนจึงออกมารอจับสัตว์เล็กๆ ที่ผ่านหน้าของมันในที่เปิดโล่ง อาหารหลัก คือ แมลง ดังนั้น
หน้าที่สำคัญของมันคือ การควบคุมไม่ให้มีแมลงมากจนเกินไป ทั้งหมดนี้ทำให้เราทราบว่า เมื่อเราพบจงโคร่งที่แหล่งไหน แหล่งนั้นย่อมเป็นแหล่งน้ำที่สะอาด และเป็นป่าที่สมบูรณ์
จงโคร่งสามารถแกล้งตายได้ เมื่อถูกจับตัวมันจะอยู่นิ่ง ๆ ไม่ดิ้นพราด ๆ เหมือนกบทูดเพื่อนตัวใหญ่ของมัน ทำให้มันดูน่ารักในสายตาของนักสำรวจธรรมชาติ ถ้าผู้อ่านมีโอกาสไปเที่ยวที่บ้านของจงโคร่ง แล้วมีโอกาสได้เจอเจ้าของบ้าน ก็เข้าไปทักทายทำความรู้จักเจ้าของบ้านได้เลย และอย่าลืมเพิ่มความระมัดระวังเพื่อไม่ให้เกิดความบังเอิญไปทำร้ายจงโคร่ง และบ้านของ...จงโคร่ง
.