svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

คัดชื่อ "คนหนีคดี" พ้นทะเบียนบ้าน

พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2562 เป็นการปฏิวัติกฎหมายทะเบียนราษฎร์เพื่อย้ำว่า คน "หนีหมายจับ" นำชื่อไปแขวนไว้ที่ทะเบียนบ้านกลาง โดยไม่มีวันที่จะลบออกไปจากสาระบบได้ ตราบใดที่ไม่กลับมาต่อสู้คดี หรือถ้าคิดจะหนี ก็ต้องหนีไปตลอดชีวิต

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศบังคับใช้ พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2562
เป็นการ "ปฏิวัติ" ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ด้าน "งานทะเบียนราษฎร์" ครั้งใหญ่ โดยเฉพาะ "กลุ่มคนชายขอบ คนไทยไทยไร้รัฐ" นี่คือโอกาสที่พวกเขารอคอยมาหลายชั่วอายุคน ดังนี้
มาตรา 4 "ให้ส่วนราชการ หรือหน่วยงานของรัฐเชื่อมโยงข้อมูล" เพื่อให้บริการแก่ประชาชน หรือการรักษาความสงบเรียบร้อย หรือความมั่นคงในราชอาณาจักร โดยเป็นอำนาจ รมว.มหาดไทย
มาตรา 5 "ให้ ผอ.ทะเบียนกลาง กำหนดเลขประจำตัวแก่ผู้มีสัญชาติไทย หรือคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่อาศัยอยู่ในราชอาณาจักร และบุคคลที่ได้จดทะเบียนคนเกิด ณ สถานทูตไทย หรือสถานกงสุลไทย คนละหนึ่งเลขโดยไม่ซ้ำกัน และต้องแยกระหว่างผู้มีสัญชาติไทย และไม่มีสัญชาติไทย"
มาตรา 6 "ให้นายทะเบียนผู้รับแจ้ง พิสูจน์สถานะการเกิด และสัญชาติของเด็ก แต่ในกรณีที่ไม่อาจพิสูจน์สถานะการเกิด และสัญชาติได้ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ให้จัดทําทะเบียนประวัติ และออกเอกสารแสดงตนให้เด็กไว้เป็นหลักฐาน เว้นแต่เด็กนั้นมีอายุครบ 5 ปีแล้ว ให้นายทะเบียน ออกบัตรประจำตัว ให้แทนตามระเบียบ"
"ผู้ซึ่งได้รับการจัดทําทะเบียนประวัติ ถ้ามีหลักฐานแสดงว่าได้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี และมีคุณสมบัติอื่นตามที่ รมว.มหาดไทยกำหนด ให้ผู้นั้นมีสิทธิยื่นคำร้องขอมีสัญชาติไทยได้ และ รมว.มหาดไทย ประกาศให้ผู้นั้นมีสัญชาติไทย ทั้งนี้ ภายใน 120 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้อง และให้ถือว่าผู้นั้นมีสัญชาติไทยตั้งแต่วันที่รัฐมนตรีมีประกาศ"
ถ้าภายหลังปรากฏหลักฐานว่ามีกรณีไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข หรือขาดคุณสมบัติให้ รมว.มหาดไทย ประกาศเพิกถอนการให้สัญชาตินั้นโดยพลัน
การประกาศใช้ พ.ร.บ.นี้ นอกจากจะปรับปรุงวิธีปฏิบัติทะเบียนราษฎรได้อย่างมีประสิทธิภาพ อํานวยความเป็นธรรม และอํานวยความสะดวกให้แก่ประชาชนยิ่งขึ้น เป็นมาตรการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเด็กที่ไร้รากเหง้า ที่ไร้รัฐ และไร้สัญชาติในประเทศไทย ให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง และหลักสิทธิมนุษยชน
ทั้งมาตรา 4 5 6 ก็เพื่อรองรับการจัดการประชากร ของประเทศไทย ซึ่งเป็นสมาชิกในประชาคมอาเซียน ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน
เป็นการ "ปลดล็อค" ปัญหาสถานะคนชายขอบ ที่อาศัยอยู่ตามตะเข็บชายแดนไทย จะได้รับรองสถานะความเป็นคนไทย ให้พวกเขามีอิสระในการเดินทาง อิสระในการเลือกอาชีพ โดยไม่ต้องโดนกดขี่ อีกต่อไป

นอกจากนี้ เนื้อหาสำคัญ ก็ยัง "ริดรอดสิทธิ" คนบางจำพวก ตามมาตรา 13 ดังนี้
"ในกรณีที่ศาล ออกหมายจับผู้ใดตามคําร้องขอของพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตํารวจ หรือในกรณีที่พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตํารวจ ได้รับแจ้งจากศาลให้จับกุมผู้ใดตามหมายจับที่ศาลออกเอง ถ้ายังมิได้ตัวผู้นั้นมาภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ศาลออกหมายจับ ให้พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตํารวจแจ้งให้ ผอ.ทะเบียนกลาง เพื่อแจ้งต่อไปยังนายทะเบียน ให้ "ย้ายผู้นั้นออกจากทะเบียนบ้าน" และ "เพิ่มชื่อและรายการของผู้นั้นไว้ในทะเบียนบ้านกลาง" และให้หมายเหตุ ว่า "อยู่ในระหว่างการติดตามตัวตามหมายจับ"
ประการสำคัญ คือ ถ้าผู้นั้นประสงค์จะย้ายออกจากทะเบียนบ้านกลาง ต้องมาแสดงตนต่อนายทะเบียน พร้อมทั้งหลักฐานว่าได้เพิกถอนหมายจับ หรือปฏิบัติตามหมายจับ เสร็จสิ้นแล้ว
ส่วนการแจ้ง ยื่น หรือส่งหนังสือหรือเอกสารให้ผู้ถูกออกหมายจับ ณ ภูมิลําเนา หรือที่อยู่ที่ปรากฏตามหลักฐานทางทะเบียนที่ปรากฏครั้งสุดท้าย ก่อนย้ายมาในทะเบียนบ้านกลาง ให้ถือว่าได้แจ้ง ยื่น ส่ง หรือปิดโดยชอบด้วยกฎหมาย และผู้นั้นได้รับทราบแล้ว
พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับในวันที่ 15 เมษายน 2562 เป็นต้นไป
ผลคือ "บุคคล" ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านกลาง ไม่สามารถใช้อ้างอิงหรือยืนยันที่อยู่ของตนตามทะเบียนบ้านได้ เพราะบ้านเลขที่ตามทะเบียนบ้านกลาง ปัจจุบันคือที่ตั้งของสำนักงานเขต หรือที่ตั้งของสำนักทะเบียนราษฎร ในแต่ละท้องที่
กรณีที่ "ชื่อ" ไปปรากฏอยู่ในทะเบียนบ้านกลาง นอกจากบุคคลหนีหมายจับ ยังมีกรณีเจ้าบ้าน แจ้งว่าผู้มีชื่อในทะเบียนบ้านของตน ไม่ได้อาศัยอยู่ในบ้านหรือได้ย้ายออกไปนานแล้ว แต่ผู้นั้นไม่ได้แจ้งย้ายเข้าไปในทะเบียนบ้านอื่น ชื่อจึงไปอยู่ในทะเบียนบ้านกลาง
กฎหมายใหม่นี้ จึงทำให้คนที่หนีหมายจับ หรือตำรวจไม่ได้ตัวมาภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ศาลออกหมายจับ ต้องถูกย้ายชื่อไปอยู่ทะเบียนบ้านกลาง ไม่ว่าคนนั้นจะเต็มใจหรือไม่ก็ตาม และนอกเหนือไปกว่านั้นกฎหมายยังให้หมายเหตุไว้ในทะเบียนบ้านด้วยว่า เขากำลังอยู่ระหว่างการติดตามตัวตามหมายจับ พูดแบบชาวบ้านก็คือ ทะเบียนบ้านจะระบุว่าท่านหนีหมายจับอยู่
โฆษกสภาทนายความฯ ว่าที่ พ.ต.สมบัติ วงศ์กำแหง บอกว่า เป็นการละเมิดสิทธิของบุคคล เพราะเขาไม่ยินยอม การระบุไว้ในทะเบียนบ้านว่า "เป็นบุคคลที่มีหมายจับ" เท่ากับประจานตัวบุคลไปด้วย ทั้งๆ ที่ รัฐธรรมนูญให้สันนิษฐานไว้ว่า บุคคลเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา

สถิติตั้งแต่ปี 2555-2558 มีจำเลยที่ศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวแล้วหลบหนี ประมาณ 27,000 ราย และเมื่อรวมถึงปีปัจจุบัน น่าจะไม่น้อยกว่า 30,000 ราย โดยบุคคลที่มีชื่อเสียง ที่หลบหนีคดี มีดังนี้
ผู้ต้องหาเหล่านี้ แยกแยะเป็นกลุ่ม ๆ ดังนี้
1.นักการเมืองทักษิณ ชินวัตร และ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯประชา มาลีนนท์ อดีต รมช.มหาดไทย ทุจริตรถและเรือดับเพลิงกทม.วัฒนา อัศวเหม อดีตรมช.มหาดไทย ทุจริตที่ดินคลองด่านประชา โพธิพิพิธ หรือกำนันเซี๊ยะ และ เขมพรต่างใจเย็น ภรรยา
2.คดีอาญาวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา ทายาทเจ้าของธุรกิจเครื่องดื่มชูกำลัง เมาขับชนตร.ตาย
3.คดีทุจริตปล่อยกู้กรุงไทยกาญจนาภา-วันชัย หงษ์เหิน มานพ ทิวารี
4.คดีฟอกเงินสหกรณ์คลองจั่นพระไชยบูลย์ ธมฺมชโย หรือ ไชยบูลย์ สุทธิผล ผู้ต้องหาคดีฟอกเงิน
5.คดีทุจริตเงินทอนวัดพระพรหมเมธี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศาราม ผู้ต้องหาทุจริตเงินทอนวัด
6.คดีความขัดแย้งทางการเมืองจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ผู้ต้องหาตามหมายจับ คสช.จอม เพชรประดับ อดีตพิธีกรรายการข่าว หลบหนีไม่มารายงานตัว คสช.
7.คดีอาญา 112จรัล ดิษฐาอภิชัย นักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายสุดจักรภพ เพ็ญแข อดีตแกนนำรุ่นบุกเบิก นปก.-นปช.จรรยา ยิ้มประเสริฐศรัณย์ ฉุยฉาย หรือ "อั้ม เนโกะ"เอกภพ เหลือรา หรือ "ตั้ง อาชีวะ"ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มธ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มธ.
สำหรับ คนที่หลบหนีคดี ส่วนใหญ่แล้วล้วนต่างมีเงิน มีคอนเนคชั่น มีการช่วยเหลือจากต่างประเทศ แม้จะใช้ชีวิตหรูหราต่างประเทศ การปฏิวัติกฎหมายทะเบียนราษฎร์เพื่อย้ำว่า คนจำพวกนี้ "หนีหมายจับ" และไม่มีวันที่จะลบออกไปจากสาระบบ ตราบใดที่ไม่กลับมาต่อสู้คดี หรือถ้าคิดจะหนี ก็ต้องหนีไปตลอดชีวิต