นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า โรคไข้ไทฟอยด์เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Salmonella Typhi (ซาลโมเนลลา ไทฟี) ทำให้ผู้ป่วยมีอาการไข้สูงลอย ปวดศีรษะและหนาวสั่น เบื่ออาหาร ท้องอืด ปวดท้องอยู่หลายวันจึงจะถ่าย ลักษณะอุจจาระเหลว มีกลิ่นเหม็น ม้ามโต และอาจมี ที่เลือดแข็งตัวกระจายไปทั่ว มีเลือดออกในลำไส้หรือลำไส้ทะลุได้ สามารถติดเชื้อนี้ได้ง่ายจากการบริโภคอาหารหรือน้ำดื่มที่ไม่สะอาดโดยปนเปื้อนอุจจาระหรือปัสสาวะที่มีเชื้อนี้ ซึ่งโรคนี้ยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขในบางประเทศ ที่ระบบสุขาภิบาลยังไม่ดีพอ ทำให้เด็กเล็กเสียชีวิตปีละหลายราย สำหรับประเทศไทยยังคงมีผู้ป่วยอยู่บ้าง แต่สามารถ ให้การรักษาได้จึงไม่มีรายงานการเสียชีวิต มาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคคือการให้ความรู้แก่คนทั่วไป โดยเฉพาะผู้ดูแลผู้ป่วยและเด็กในเรื่องสุขนิสัยในการรักษาความสะอาด เน้นความสำคัญของการล้างมือ และควรให้วัคซีนแก่ผู้ที่มีโอกาสสัมผัสเชื้อ ได้แก่ เจ้าหน้าที่ตรวจวินิจฉัยในห้องปฏิบัติการ และสมาชิกของครอบครัวผู้เป็นพาหะ รวมทั้งผู้ที่เดินทางไปยังพื้นที่ที่มีความชุกของโรคสูงหรือการสุขาภิบาลไม่ดี
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันได้มีการพัฒนาวัคซีนป้องกันไข้ไทฟอยด์ที่ใช้ในเด็กแล้ว แต่ยังมีวัคซีนที่ขึ้นทะเบียนแล้วไม่กี่ชนิด ส่วนใหญ่ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาวิจัยในคนที่มีแนวโน้มจะนำมาขึ้นทะเบียน เพื่อการจำหน่ายในเร็วๆ นี้ องค์การอนามัยโลกจึงได้เตรียมความพร้อมให้กับหน่วยงานควบคุมกำกับและผู้ผลิต โดยร่วมกับสถาบันชีววัตถุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ แนะนำการใช้คู่มือแนวทางการควบคุมคุณภาพและประสิทธิภาพของวัคซีนดังกล่าว เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างผู้ผลิตและหน่วยงานควบคุมกำกับ ของประเทศตามมาตรฐานสากล เพื่อให้สามารถนำไปปรับใช้ได้อย่างเหมาะสมกับบริบทของแต่ละประเทศซึ่งจะช่วยให้ได้วัคซีนที่มีคุณภาพขึ้นทะเบียนมาใช้ได้โดยเร็ว"สถาบันชีววัตถุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการควบคุมคุณภาพวัคซีนของประเทศไทย จึงมีส่วนร่วมในการพัฒนางานและสร้างการยอมรับให้กับประเทศได้อีกทางหนึ่งในด้านการควบคุมกำกับคุณภาพวัคซีน" นายแพทย์โอภาส กล่าวในตอนท้าย