svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

อาชีวะไทยปรับตัวสู่สากล ผลิต"เด็กช่างพรีเมียม"4.0

อาชีวะไทยปรับตัวสู่สากล ผลิต"เด็กช่างพรีเมียม"4.0 : รายงาน โดย... ชุลีพร อร่ามเนตร [email protected] --- "อาชีวะกำหนดทิศทางพัฒนากำลังคนมีคุณภาพ มาตรฐานเทียบเท่าระดับสากล จัดการศึกษาตอบสนองนโยบาย 4.0" สุเทพ ชิตยวงษ์

ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันทรัพยากรบุคคล กำลังคนที่ภาคอุตสาหกรรม สถานประกอบการต้องการมากที่สุดเป็นกลุ่ม "เด็กช่าง" ที่ทำงานเป็น มีทักษะสมรรถนะอาชีพ มีคุณธรรม พร้อมสำหรับสังคมดิจิทัล ปรับตัวเรียนรู้ตลอดเวลา  ขณะนี้รัฐบาลได้ให้ความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะยุคไทยแลนด์ 4.0 หรือยุคดิจิทัล เช่นเดียวกับสถานการณ์แรงงาน ผู้ประกอบการต้องการบัณฑิตสายปฏิบัติการ หรืออาชีวะจำนวนมาก สัดส่วนไม่น้อยกว่า 2 ล้านคน

สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.) กล่าวว่าอาชีวะจัดการศึกษาตอบสนองนโยบาย 4.0 ผลิตนักศึกษาให้สอดคล้องกับ 10 อุตสาหกรรมหลัก โดยพัฒนาหลักสูตร เป็นหลักสูตรอาชีวะพรีเมียม หรือโครงการเพื่อยกระดับคุณภาพหลักสูตรอาชีวศึกษาตามนโยบายรัฐ ใน 7 สาขา ได้แก่ สาขาระบบขนส่งทางราง สาขาแม็คคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ สาขาช่างอากาศยาน สาขาหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม สาขาโลจิสติกส์ และสาขาเกษตรสมัยใหม่ (สมาร์ทฟาร์มมิ่ง) ใน 27 วิทยาลัย ในหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ร่วมกับวิทยาลัยต่างประเทศ จบการศึกษาได้รับทวิวุฒิ ซึ่งมี 2 สาขา คือสาขาระบบขนส่งทางราง และสาขาแม็คคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์อุตสาหกรรม เริ่มรับนักศึกษารุ่นแรก ปีการศึกษา 2561

อาชีวะไทยปรับตัวสู่สากล ผลิต\"เด็กช่างพรีเมียม\"4.0

สุเทพ ชิตยวงษ์



ใช้บิ๊กดาต้าพัฒนากำลังคน

นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือในประเทศต่างๆ เช่น ระบบขนส่งทางราง ร่วมมือกับประเทศจีน, ท่าอากาศยาน ร่วมมือกับบริษัทในต่างประเทศ อย่าง เยอรมนี และสายการบินทั้งไทย และต่างชาติ พัฒนากำลังคนตอบโจทย์ประเทศ และการเปลี่ยนแปลงของโลกแล้วนั้น สอศ.ปรับกระบวนการบริหารให้วิทยาลัยอาชีวะทุกแห่ง มีระบบฐานข้อมูลเชิงดิจิทัล และจัดทำฐานข้อมูล หรือบิ๊กดาต้า อาชีวะทั้งประเทศช่วยให้วิทยาลัยแต่ละแห่งเห็นทิศทางพัฒนากำลังคน

เนื่องจากขณะนี้เศรษฐกิจของประเทศเปลี่ยนแปลงจากภาคการผลิตไปสู่การคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ การเรียนรู้ทางนวัตกรรม เพื่อนำพาประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0 และมิได้เกิดประโยชน์ต่อนักเรียน ครู หรือสถานศึกษาเท่านั้น แต่ยังเกิดประโยชน์ในระดับภูมิภาคด้วยกระบวนการจัดการเรียนการสอน เพื่อสนองนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ต้องเน้นโครงงานแบบฐานวิทยาศาสตร์

อาชีวะไทยปรับตัวสู่สากล ผลิต\"เด็กช่างพรีเมียม\"4.0

โดยมีวิทยาลัยที่เป็นโครงการนำร่องทั้งสิ้น 5 แห่ง ได้แก่ จังหวัดพังงา จะเน้นด้านอุตสาหกรรมบริการ คือ ด้านการท่องเที่ยวและการโรงแรม และอีก 4 แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา และวิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ (ชลบุรี) เน้นด้านช่างอุตสาหกรรม

สำหรับวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลำพูน เน้นด้านเกษตรกรรม (เทคโนโลยีชีวภาพการเกษตร) และวิทยาลัยอาชีวศึกษาสิงห์บุรี เน้นด้านเทคโนโลยีการอาหาร โดยจะเป็นการสอนที่ให้ผู้เรียนเรียนด้วยระบบการจัดการเรียนการสอนโดยใช้โครงงานเป็นฐาน และยังมีแนวทางการจัดการศึกษาที่บูรณาการความรู้ใน 4 สหวิทยาการ ที่เรียกว่า สะเต็ม เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย โดยคำนึงถึงคุณภาพของผู้เรียนเป็นสิ่งสำคัญ ให้สอดคล้องกับนโยบายของสอศ. ที่กำหนดให้ปีนี้เป็นปีแห่งคุณภาพการจัดการอาชีวศึกษา

ครูฝึกในสถานประกอบการ

สุเทพ กล่าวต่อไปว่า ครูเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนา ซึ่งปัจจุบันสอศ.มีหลักสูตรพัฒนาครู 84 หลักสูตร และมีครูอาชีวะตามเกณฑ์ 33,000 คน โดยเป็นครูประจำ 16,000 คน และครูอัตราจ้าง หรือผู้เชี่ยวชาญจากสถานประกอบการมาสอน 17,000 คน  จึงเปิดโอกาสให้นักศึกษา ครูคณาจารย์ ไปเรียนรู้ฝึกปฏิบัติในสถานประกอบการ ซึ่งมีเทคโนโลยีทันสมัย เรียนรู้สภาพความเป็นจริง นักศึกษาได้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี และพร้อมปรับตัวเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ   

อาชีวะไทยปรับตัวสู่สากล ผลิต\"เด็กช่างพรีเมียม\"4.0

"อาชีวะเน้นทวิภาคีแบบเข้มข้น พัฒนาครูฝึกในสถานประกอบการ เพื่อให้เด็กอาชีวะคุณธรรม มีความรับผิดชอบ ซื่อสัตย์ อดทน สื่อสารได้ แก้ปัญหาเป็น คิดค้นนวัตกรรม เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยครูต้องพัฒนาทักษะการสอนแบบ WIL เข้มข้นในสาขางาน/สาขาวิชา และร่วมเป็นครูพี่เลี้ยงร่วมสอนในสถานประกอบการ" สุเทพ กล่าว



ดึงเอกชนทำทวิภาคี

ล่าสุดได้ทำทวิภาคีร่วมกับบริษัท ดัคกาลบี้ กรุ๊ป จำกัด  ดำเนินธุรกิจด้านร้านอาหารเกาหลี มีครูฝึกที่มีความชำนาญ โดยรับนักเรียน นักศึกษา ในระดับชั้น ปวช.และ ปวส. สาขาอาหารและโภชนาการ ด้านธุรกิจค้าปลีก และสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของบริษัท เข้าฝึกประสบการณ์วิชาชีพ และทำงานพาร์ทไทม์ 

อาชีวะไทยปรับตัวสู่สากล ผลิต\"เด็กช่างพรีเมียม\"4.0

มีสถานศึกษาในสังกัด สอศ. จำนวน 8 แห่งเข้าร่วม ได้แก่ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเอี่ยมละออ วิทยาลัยอาชีวศึกษามหาสารคาม วิทยาลัยอาชีวศึกษาธนบุรี วิทยาลัยพณิชยการบางนา วิทยาลัยอาชีวศึกษานครปฐม วิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภา วิทยาลัยพณิชยการเชตุพน และวิทยาลัยพณิชยการธนบุรี

"ความร่วมมือครั้งนี้จะสามารถผลิตกำลังคนสายวิชาชีพ ให้ตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน รวมถึงนำไปสู่การผลิตและพัฒนากำลังคนที่มีคุณภาพ ตามนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป"

อาชีวะไทยปรับตัวสู่สากล ผลิต\"เด็กช่างพรีเมียม\"4.0



17ศูนย์ประสานงานฯกำลังคน 

ปัจจุบัน เด็กอาชีวะ มีงานทำ 100% แต่ละปีมีบัณฑิตอาชีวะจบการศึกษาประมาณ 2.3 แสนคน แต่ตลาดแรงงานต้องการ ไม่น้อยกว่า 5 แสนคน อีกทั้งอาชีวศึกษาได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยปี 60 สัดส่วนผู้เรียนอาชีวศึกษา เพิ่มขึ้นเป็น 39.70% สายสามัญมีคนเรียน 60.30%  อนาคตคาดว่าได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุพ่อแม่ ผู้ปกครองมองเห็นความสำคัญของการเรียนอาชีวะ สอศ.จึงเร่งสร้างความเข้าใจ และสร้างแรงจูงใจเพื่อให้มีผู้เรียนมากขึ้นให้ได้สัดส่วน 50%