svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

แปดริ้ว : สุสานขยะอิเล็กทรอนิกส์ ไทย : ปลายทางขยะพิษทั่วโลก!

ครึ่งหลังของเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีข่าวใหญ่เกี่ยวกับโรงงานคัดแยกและกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ "เมืองแปดริ้ว" ใกล้ๆ กรุงเทพฯ นี่เอง


เรื่อง "ขยะไฮเทค" กลายเป็นข่าวครึกโครม หลังจาก พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รองผบ.ตร. นำกำลังตำรวจและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานหลายแห่งที่ต้องสงสัยว่ากระทำผิดกฎหมาย หรือไม่ได้ขออนุญาตประกอบกิจการในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ก่อนจะขยายผลไปยังนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง ชายขอบกรุงเทพฯ และท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ด้วย



ปฏิบัติการของตำรวจบวกกับการประโคมข่าวของสื่อมวลชนทำให้คนแปดริ้วตื่นตัวออกมาต่อต้านขยะพิษ โดยเมื่อวันพุธที่ 30 พฤษภาคม มีประชาชนจากหลายหมู่บ้านใน อ.พนมสารคาม ออกมารวมตัวกันเพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านการตั้งโรงงานกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์เพราะได้รับผลกระทบจากสารพิษที่ปล่อยมาจากโรงงาน

แปดริ้ว : สุสานขยะอิเล็กทรอนิกส์ ไทย : ปลายทางขยะพิษทั่วโลก!



ต.ท่าถ่าน อ.พนมสารคาม เป็นหนึ่งในหลายๆ พื้นที่ของ จ.ฉะเชิงเทรา นอกเหนือจาก อ.แปลงยาว ที่มีการร้องเรียนจากชาวบ้านว่ามีโรงงานลักลอบเข้าไปปลูกสร้างเพื่อคัดแยกและเผาขยะโดยไม่ได้รับอนุญาต


สำหรับโรงงานที่ ต.ท่าถ่าน อ.พนมสารคาม จากการสำรวจพบว่าพื้นที่โรงงานมีทั้งหมด 35 ไร่ ตั้งอยู่ใจกลางชุมชน มีเรือกสวนไร่นาของชาวบ้านล้อมรอบ ภายในมีโรงงานมีโรงเรือน 4 โรง สำหรับเก็บขยะอุตสาหกรรมที่คัดแยกแล้ว ทั้งรีไซเคิลและยังไม่ได้รีไซเคิล ภายนอกพบกองขยะอิเล็กทรอนิกส์กองโตและยังพบแรงงานต่างด้าวประมาณ 60 คนกำลังทำงาน ทั้งคัดแยกขยะ และต่อเติมอาคาร

แปดริ้ว : สุสานขยะอิเล็กทรอนิกส์ ไทย : ปลายทางขยะพิษทั่วโลก!

ชาวบ้านเล่าว่า กว่า 2 ปีมาแล้วที่ต้องทนกับกลิ่นเหม็นจากการเผาขยะของโรงงาน ก่อนหน้านี้พยายามร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ แต่กลับไม่ได้รับการเหลียวแล ช่วงที่คณะทำงานของรองผบ.ตร.ลงพื้นที่มาตรวจสอบโรงงานกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์หลายโรง ก็ไม่ได้เข้าตรวจค้นโรงงานแห่งนี้

ด้วยเหตุผลที่ไม่ได้รับการเหลียวแลจากหน่วยงานภาครัฐ ทำให้ชาวบ้านบางคนถึงขั้นลงทุนเป็นเงินกว่า 20,000 บาท เพื่อไปซื้อเครื่องตรวจวัดคุณภาพน้ำมาสุ่มเก็บตัวอย่างน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติใต้ดินด้วยตนเอง เพื่อส่งตัวอย่างน้ำไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ เรียกว่าอำนวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่รัฐแทนที่รัฐจะอำนวยความสะดวกให้ประชาชน

ผลการตรวจคุณภาพพบว่าน้ำมีโลหะหนักเจือปน นี่คือความทุกข์ของชาวบ้านท่าถ่านที่มีโรงงานคัดแยกขยะตั้งอยู่กลางชุมชน

แปดริ้ว : สุสานขยะอิเล็กทรอนิกส์ ไทย : ปลายทางขยะพิษทั่วโลก!



ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนจากโรงงานขยะอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ทางจังหวัดเริ่มขยับออกมามีบทบาทช่วยเหลือชาวบ้าน กิตติพันธุ์ โรจนชีวะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ยืนยันว่า จังหวัดไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยขณะนี้ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบอย่างเร่งด่วนแล้ว พบว่ามีโรงงานกำจัดขยะในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ทั้งหมด 25 โรงงาน ตรวจสอบแล้ว 13 โรงงาน อยู่ระหว่างการตรวจสอบอีก 12 โรงงาน



แนวทางการตรวจสอบได้ดำเนินการใน 3 ส่วน คือ การก่อสร้างอาคารถูกต้องหรือไม่ มีการขออนุญาตประกอบกิจการคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์หรือไม่ และแรงงานที่ใช้เป็นแรงงานที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าโรงงานส่วนใหญ่ไม่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการอย่างถูกต้อง แต่ก็เปิดกำจัดขยะมานานหลายปี

แปดริ้ว : สุสานขยะอิเล็กทรอนิกส์ ไทย : ปลายทางขยะพิษทั่วโลก!


เส้นทางของขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมหาศาลใน จ.ฉะเชิงเทรา นั้น เป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ไหลมาจากต่างประเทศ หลังจากประเทศจีนปฏิเสธการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ สุดท้ายจึงทำให้ประเทศไทยกลายเป็นจุดหมายปลายทางของขยะจำนวนมหาศาล


ขบวนการที่หาประโยชน์จากเรื่องนี้จะขนขยะใส่ตู้คอนเทนเนอร์ ขนส่งทางเรือมาที่ท่าเรือแหลมฉบังแล้วใช้วิธี "สำแดงเท็จ" ว่าเป็นสิ่งของอย่างอื่นที่ไม่ใช่ขยะอันตราย เมื่อผ่านขั้นตอนนั้นมาได้ก็จะนำขยะไปกระจายพักไว้ตามจุดต่างๆ ทั้งนิคมอุตสาหกรรมใน จ.สมุทรปราการ และนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง ก่อนนำมาคัดแยกที่โรงงานใน จ.ฉะเชิงเทรา ดึงส่วนที่มีราคาหรือขายต่อได้ออกไป แล้วทำลายส่วนที่เหลือทิ้ง

ปัญหาอยู่ตรงที่กระบวนการทำลาย เพราะหากใช้ความร้อนหลอมขยะอิเล็กทรอนิกส์แบบผิดวิธี จะทำให้มีสารปนเปื้อนในอากาศ ทั้งสารตะกั่ว สารปรอท แคดเมียม และสารเคมีอื่นๆ ที่ล้วนเป็นอันตรายต่อสุขภาพทั้งสิ้น เมื่อคนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นหายใจเข้าไป ก็จะเกิดการสะสมสารพิษในร่างกาย ทำให้โรคมะเร็งถามหา


นพ.ธวัชชัย วานิชกร ผู้อำนวยการใหญ่ โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ฉะเชิงเทรา แสดงความเป็นห่วงว่า ชาวบ้านไม่เพียงได้รับผลกระทบจากสารอันตรายที่ปนเปื้อนในอากาศเท่านั้น แต่ยังได้รับผลกระทบจากแหล่งน้ำใต้ดินที่ชาวบ้านใช้ในการอุปโภคบริโภคอีกด้วย ยิ่งหากสารพิษรั่วไหลลงทะเล ก็จะกระทบสัตว์น้ำที่ชาวบ้านนำมาบริโภค กลายเป็นวงจรอันตรายที่ชาวบ้านมีความเสี่ยงทุกทาง



สำหรับปฏิบัติการตรวจสอบโรงงานคัดแยกและกำจัดขยะใน จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเน้นไปที่โรงงานกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์นั้น เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม โดย พล.ต.อ.วิระชัย นำกำลังตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมควบคุมมลพิษ กรมศุลกากร และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เข้าตรวจค้นโรงงานคัดแยกและกำจัดขยะใน อ.แปลงยาว



ต่อมาในวันรุ่งขึ้น 23 พฤษภาคม พล.ต.อ.วิระชัย นำกำลังเข้าตรวจค้นโรงงานขยะเป้าหมายอีก 4 แห่งใน อ.แปลงยาว และ อ.พนมสารคาม โดยเน้นตรวจสอบใบอนุญาตประกอบกิจการ มาตรฐานการคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ และการรั่วไหลของสารพิษ

แปดริ้ว : สุสานขยะอิเล็กทรอนิกส์ ไทย : ปลายทางขยะพิษทั่วโลก!



ถัดจากนั้นอีก 1 วัน ยังมีการตรวจค้นโรงงานนำเข้ากากขยะอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบังด้วย พบขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมาก ทั้งโทรศัพท์มือถือ แบตเตอรี่ แผงวงจร ซีพียูคอมพิวเตอร์ จากการสืบสวนทราบว่าเป็นจุดกระจายขยะไปยังโรงงานคัดแยกใน จ.ฉะเชิงเทรา อีกที



จากนั้นในวันที่ 28 พฤษภาคม พล.ต.อ.วิระชัย นำกำลังเข้าค้นคลังสินค้าท่าเรือแหลมฉบังเพื่อหาต้นตอขยะอิเล็กทรอนิกส์และหลักฐานการ "สำแดงเท็จ" ในกระบวนการนำเข้าขยะที่อำพรางไว้ในตู้คอนเทนเนอร์



วันที่ 1 มิถุนายน พล.ต.อ.วิระชัย ขยายผลไปตรวจค้นตู้คอนเทนเนอร์ในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง พบ "ขยะพลาสติก" อัดแน่นมากถึง 58 ตัน คาดว่าเป็นขยะอันตรายและจะก่อมลพิษในกระบวนการรีไซเคิลขยะ เพราะเป็นพลาสติกคุณภาพต่ำ และล่าสุดวันที่ 2 มิถุนายน รองผบ.ตร.นำกำลังเข้าตรวจค้นโรงงานเจ้าของตู้คอนเทนเนอร์ที่พบขยะพลาสติกตั้งอยู่ที่ จ.สมุทรสาคร



ข้อมูลจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม ระบุว่าปัจจุบันประเทศไทยมีปริมาณการ "นำเข้า" ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ประมาณปีละ 53,000 ตัน ไม่รวมขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศเอง โดยขยะเหล่านี้ถูกนำเข้ามาบำบัดและแปรรูปในโรงงานที่ได้รับอนุญาตจำนวนทั้งสิ้น 148 โรงงานทั่วประเทศ มีทั้งโรงงานกำจัด โรงงานคัดแยก และโรงงานสกัดโลหะมีค่าเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่



ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนใหญ่เป็นพวกโทรศัพท์มือถือเก่า แผงวงจร แบตเตอรี่ คอมพิวเตอร์ และซีพียูของคอมพิวเตอร์ สาเหตุที่ขยะพวกนี้มีราคา เพราะสามารถนำมาสกัดเอาโลหะมีค่าออกมาได้ เช่น โทรศัพท์มือถือบางรุ่นมีส่วนประกอบของทองคำขาว หรือแผงวงจรก็จะมีพวกทองแดง บางส่วนสามารถนำมารีไซเคิลเพื่อใช้ใหม่ แต่ปัญหาก็คือกระบวนการคัดแยกและรีไซเคิลขยะ หากดำเนินการอย่างไม่ได้มาตรฐาน หรือกระทำโดยโรงงานเถื่อน จะก่อมลพิษอย่างรุนแรง กระทบทั้งสภาพแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน



จากการตรวจสอบของกรมโรงงานอุตสาหกรรม พบว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์ส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น ฮ่องกง และสิงคโปร์ ส่วนขยะพลาสติก มีต้นทางจาก 35 ประเทศ จากทุกทวีปทั่วโลก


สภาพการณ์เช่นนี้ย่อมชี้ให้เห็นว่าไม่ใช่แค่ฉะเชิงเทราที่กำลังเป็น "สุสาน" ของขยะอิเล็กทรอนิกส์ แต่ประเทศไทยทั้งประเทศกำลังเป็น "ปลายทาง" และ "ศูนย์กลาง" ขยะพิษของโลกกันเลยทีเดียว!