svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ลูกจ้างกรีดยาง กยท.22 ครอบครัว ตกงาน ไร้เงินชดเชย

ลูกจ้างกรีดยาง กยท.22 ครอบครัว ต้องกลายเป็นคนตกงานขาดรายได้ หลังรัฐบาลมีนโยบายลดผลิตยางพารา ล่าสุดทั้งหมดยังไม่ได้รับเงินชดเชย ต้องเร่ร่อนหางานทำประทังชีวิต

นางดี ซุ้มวุ่ง อายุ 62 ปี นางรัชนี ดวงจินดา อายุ 58 ปี และนายสมพล ชัยปัญญา อายุ 52 ปี ลูกจ้างกรีดยางของ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ซึงตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 1 ต.ไม้ฝาด อ.สิเกา รวมทั้งลูกจ้างรายอื่นๆของแปลงยางเดียวกัน รวม 22 ครอบครัว ต้องกลายเป็นคนตกงานอย่างกะทันหัน หลังรัฐบาลมีนโยบายควบคุมปริมาณผลผลิตยาง เพื่อลดปริมาณผลผลิต โดยให้หยุดกรีดยางในพื้นที่ของรัฐ จำนวน 120,000 ไร่

ประกอบด้วย พื้นที่ของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กรมวิชาการการเกษตร และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) ยกเว้นพื้นที่สวนยางที่ใช้ในการวิจัย เป็นเวลา 3 เดือน นับตั้งแต่เดือนมกราคมมีนาคม 2561 ทำให้ทั้งหมดต้องหยุดกรีดยางในทันที นับจากวันที่ 1 ม.ค.61 เป็นต้นมา และต้องเก็บภาชนะรองรับน้ำยางออกจากแปลง เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกจ้างลักลอบกรีด ซึ่งจะมีความผิดในข้อหาลักทรัพย์ของทางราชการ

โดยตัวแทนลูกจ้างกรีดยางของ กยท.กล่าวว่า ลูกจ้างกรีดยางของ กยท.ส่วนใหญ่อายุมาก ทำงานมาประมาณ 20 30 ปี ทั้งหมด 22 ครอบครัว รับผิดชอบครอบครัวละ 10 ไร่ ต้องกลายเป็นคนตกงานทันทีตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.61 ที่ผ่านมา โดยที่ยังไม่ได้รับเงินชดเชยแต่อย่างใด ก่อนหน้านี้มีคนมาบอกว่าจะมีการจ่ายเงินชดเชยให้ครอบครัวละ 4,000 บาทต่อเดือน แต่ยังไม่มีความชัดเจน ถึงแม้ว่าได้จริงก็คงไม่พอเลี้ยงครอบครัว เพราะจากเดิมเคยได้มีรายได้จากกรีดยางเดือนละประมาณ 7,000 9,000 บาท ประกอบกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้ได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก

ขณะนี้คนงานทั้งหมดได้กลับบ้านไปหางานรับจ้างทั่วไป เพื่อหาเงินเลี้ยงครอบครัวประทังชีวิต เช่น แบกไม้ยาง บางส่วนไปหายางแปลงอื่นที่ถูกปล่อยรกร้างกรีดได้ไม่กี่ต้นก็ต้องกรีด เพราะหายาก ไม่มีหน้ายางใครว่าง เพราะส่วนใหญ่มีลูกจ้างอยู่แล้ว ส่วนพวกที่ยังอยู่เฝ้าสวน เพราะอายุมากแล้วไปหางานอื่นทำไม่ได้ มีคนพิการ ลูกหลานที่ต้องดูแล

เบื้องต้นทาง กยท.ให้หยุดกรีดยางก่อนเป็นเวลา 3 เดือน แต่หลังจากครบ3เดือนแล้ว หากราคายางยังไม่ดีขึ้น อาจจะต้องหยุดกรีดออกไปอีกอย่างไม่มีกำหนด