โดยครั้งแรกอัยการนัดนายวรยุทธ ในวันที่ 25 เม.ย. 2559 แต่นายวรยุทธ มอบอำนาจทนายความขอเลื่อน โดยให้เหตุลผลว่าเนื่องจากอยู่ต่างประเทศ ทำให้อัยการนัดอีกครั้งในวันที่ 25 พ.ค. แต่นายวรยุทธก็ยังไม่มาพบ อัยการจึงมีหนังสือไปถึงตำรวจ สน.ทองหล่อ วันที่ 30 พ.ค. 2559 ให้ติดตามตัวนายวรยุทธ แต่ตำรวจแจ้งว่า วรยุทธขอเลื่อนเนื่อจากร้องขอความเป็นธรรมพยานในประเด็นการขับรถเร็วไปที่คณะกรรมาธิการกฎหมายกระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ อย่างไนก็ตามอัยการเห็นว่าไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งฟ้อง จึงยืนยันให้เข้าพบเพื่อส่งฟ้อง วันที่24 มิ.ย. 2559 แต่เมื่อถึงวันดังกล่าวนายวรยุทธ ก็ขอเลื่อนอีกอ้างว่าอยู่ระหว่างกระบวนการร้องขอความเป็นธรรมคณะกรรมาธิการฯ อัยการจึงแจ้งตำรวจทองหล่อให้ติดตามมาให้ทันส่งฟ้องภายในวันที่ 28 ต.ค. 2559 และเมื่อถึงวันที่กำหนดก็เป็นไปตามคาดว่า นายวรยุทธ ก็ขอเลื่อนอีกโดยอ้างเหตุผลเดิม อัยการจึงให้มาพบเพื่อส่งฟ้องอีกครั้งภายในวันที่ 30 พ.ย. 2559 ในวันที่ 30 พ.ย.2559 นายวรยุทธก็ขอเลื่อนอีกครั้งโดยอ้างติดภารกิจ ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อัยการจึงเลื่อนนัดเป็นวันที่ 28 ธ.ค. 2559 อย่างไรก็ตามระหว่างนั้นคือวันที่23 ธ.ค. 2559 คณะกรรมมาธิการฯ ซึ่งนายวรยุทธทำเรื่องขอความเป็นธรรม ทำหนังสือถึงอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ ว่านายวรยุทธ ได้ร้องขอความเป็นธรรมต่อคณะกรรมาธิการฯ จึงตั้งคณะทำงานสอบสวนข้อเท็จจริง อย่างไรก็ตามขณะนี้ได้รับผลการสอบสวนจากคณะกรรมาธิการฯ แล้ว จึงได้นัดให้นายวรยุทธ มาพบในวันนี้ คือ 30 มี.ค. แต่นายวรยุทธก็ขอเลื่อนคดีอีกครั้งโดยอ้างว่าติดภารกิจอยู่ที่ประเทศอังกฤษ จึงให้เลื่อนเป็นวันที่ 27 เม.ย. 2560 โดยทางอัยการระบุว่าได้กำชับให้นำตัวนายวรยุทธมาด้วย หากยังมีการแจ้งขอเลื่อนด้วยเหตุผลเดิม อัยการจะไม่อนุญาตแน่นอนและจะให้ตำรวจขอศาลออกหมายจับทันที อย่างไรก็ตามเรื่องนี้นับว่าเป็นปัญหาของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่ไม่กำหนดกรอบเวลาการพิจารณาสำนวนคดีของอัยการ กล่าวคือจะใช้เวลาเท่าไหร่ก็ได้ ทำให้สามารถยื้อคดีไปได้เรื่อยๆ โดยหากตกลงกันได้อัยการก็จะส่งสัญญาณให้ผู้ต้องหาร้องขอความเป็นธรรมเข้ามา หรือขอเลื่อน อ้างอยู่ต่างประเทศ ก็จะทำให้เลื่อนได้เรื่อยๆแบบไม่มีกรอบเวลา จนถึงวันที่จะส่งฟ้อง พอสำนวนไปถึงศาล ก็อาจขาดอายุความแล้ว ซึ่งการกระทำความผิดแต่ละฐานจะกำหนดอายุความฟ้องไว้ เช่น ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย สมมติอายุความฟ้อง 3 ปี อัยการถ้าจะช่วยผู้ต้องหา ก็จะดึงเวลาไปเรื่อยๆ พอครบ 3 ปีจึงค่อย และเมื่อฟ้องศาลก็จะมาดูอายุความก็พบว่าขาดแล้ว ทำให้เอาผิดจำเลยไม่ได้ อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้เคยมีการเสนอให้แก้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้เขียนกรอบเวลาการพิจารณาสำนวนของอัยการ แต่ปรากฏว่าอัยการคัดค้าน ทำให้จนถึงวันนี้ไม่มีการกำหนดกรอบเวลา น่าสนว่าคดีนี้ แม้นายวรยุทธจะทั้งเลื่อนและทั้งไม่มาและมีหลักฐานว่าเขาไปใช้ชีวิตหรูอยู่ต่างประเทศ แต่ก็ยังไม่มีการออกหมายจับทั้งๆที่ ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 25.พ.ค. 2559 "สุทธิ กิตติศุภพร" อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ เคยระบุว่า "ถ้าผู้ต้องหาไม่มาโดยไม่แจ้งเหตุอีก อัยการควรมองเป็นเหตุอื่นไม่ได้นอกจากการประวิงเวลา ซึ่งต้องออกหมายจับ" และในวันนี้ก็มีการระบุว่าจะออกหมายจับอีกครั้ง โดย "ประยุทธ์ เพชรคุณ" รองอธิบดีอัยการสูงสุดกล่าวว่า "หากยังมีการแจ้งขอเลื่อนด้วยเหตุผลเดิม อัยการจะไม่อนุญาตแน่นอนและจะให้ตำรวจขอศาลออกหมายจับทันที" ต้องดูว่าที่สุดแล้วคดีนี้จะเป็นอย่างไร จะดำเนินการอะไรได้อีกหรือไม่ หรือสุดท้ายก็จะมีการประวิงคดีไปเรื่อยๆจนคดีหมดอายุความไปเอง